++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คาดอีก 10 ปีเด็กเกิดใหม่ลดเฉลี่ยปีละ 7 แสนราย สธ.ร้อนเร่งคุมคุณภาพ

สธ.เร่งคุมปัญหา เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ
แม่เด็กหญิงมีบุตรไม่พร้อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดแนวโน้มอีก 10 ปี
เด็กเกิดใหม่ลดต่ำเฉลี่ยปีละ 7 แสนราย

วันที่ 15 กรกฎาคม ที่โรงแรมรามากาเด้นส์ นายมานิต นพอมรบดี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
กล่าวในการแถลงข่าวการประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ
ครั้งที่ 1 "เกิดน้อย ไม่ด้อยคุณภาพ" เนื่องในวันประชากรโลก
ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม ว่า
ปัจจุบันโครงสร้างประชากรของไทยได้เปลี่ยนแปลง
จากเดิมอัตราเพิ่มประชากรที่เคยสูงกว่าร้อยละ 3 ต่อปี เมื่อ 40
ปีก่อนได้ลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ต่อปี
และในขณะนี้อัตราการเกิดได้ลดลงเหลือร้อยละ 1.3
คือจำนวนเด็กเกิดแต่ละปีจากเดิมเกินกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียง 8 แสนคน
และมีแนวโน้มจะลดต่ำลงไปอีก คาดว่าไม่เกิน 10
ปีข้างหน้าจะมีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียงปีละประมาณ 7 แสนคน

นายมานิต กล่าวต่อว่า
อัตราการเพิ่มประชากรที่ลดต่ำลงเป็นผลมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงอย่าง
รวดเร็ว จากเดิมหญิงไทยหนึ่งคนมีลูกโดยเฉลี่ยมากกว่า 6 คน
ปัจจุบันมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น
แต่ด้านการส่งเสริมคุณภาพประชากร
ประเทศไทยกลับต้องเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ
สาเหตุหนึ่งเกิดจากปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาและไม่มีความรู้ความเข้า
ใจในเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์
โดยเฉพาะเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยทำให้แต่ละปีมีการเกิดจากเด็กหญิง
อายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมจะเป็นแม่ประมาณ 2,500 ราย
และเกิดจากแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 84,000 ราย
อีกทั้งปัญหาทารกที่คลอดออกมามีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 2,500 กรัมมากกว่า
70,000 รายต่อปี และเป็นเด็กที่คลอดออกมาแล้วติดเชื้อเอดส์จากแม่ 240
รายต่อปี

"ขณะนี้เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ ดังนั้น
จะต้องแก้ไขให้เด็กที่เกิดน้อยอยู่แล้วมีคุณภาพมากขึ้น
โดยเริ่มพัฒนาคุณภาพประชากรตั้งแต่แรกเกิด
มีการเตรียมความพร้อมพ่อแม่ก่อนการตั้งครรภ์
ไม่ใช่แต่งงานตั้งแต่เป็นเด็กหญิง ไม่ทันได้ใช้นางสาว
ก็ต้องเปลี่ยนเป็นนาง ซึ่งกลุ่มนี้พบว่ามีประมาณ 20%
และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่ลดลงรวมถึงต้องดูแลครรภ์ขณะคลอดและหลังคลอดทั้งแม่
และทารก และการเกิดที่มีคุณภาพจะต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่สตรีมีความพร้อมและ
ตั้งใจ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ
เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และพัฒนา
คุณภาพชีวิตของเด็กไทย
ตั้งแต่การให้ความรู้แก่กลุ่มวัยรุ่นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์เพื่อให้การเกิดที่มีคุณภาพ
เป็นการตั้งครรภ์ของสตรีที่ตั้งใจ และมีความพร้อม
ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ต้องเร่งด่วน"
นายมานิตกล่าว

นายมานิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ร้อยละ 5
เสี่ยงต่อการมีบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียทั้งชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง
รวมถึงปัญหาการขาดสารไอโอดีน ที่จะมีผลทำให้ระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำ
ตลอดจนปัญหาทารกถูกแม่ทอดทิ้งไว้ทั้งที่โรงพยาบาล
ผู้รับจ้างเลี้ยงหรือในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ประมาณปีละ 800 ราย
ซึ่งปัญหาดังกล่าวล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กไทยทั้งสิ้น

พญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
การพัฒนาประชากรกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์
นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เห็น
ได้ชัดเจน เพราะเมื่อประชากรทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี
ตั้งแต่ทารกที่เกิดมาแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรค
ได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตเป็นวัยเด็กที่มีสุขภาวะที่ดี
ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ในช่วงวัยรุ่น
ไม่อยู่ในสภาพการตั้งครรภ์การคลอด หรือเสี่ยงต่อการแท้งที่ไม่ปลอดภัย
ซึ่งจะส่งผลให้เป็นประชากรกลุ่มวัยทำงานที่มีคุณภาพ
เป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ

"กลุ่ม วัยรุ่นและเยาวชนอายุ 10-24 ปี ซึ่งมีประมาณร้อยละ 22
ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 14 ล้านคน จึงเป็นกลุ่มวัยที่
สธ.ให้ความสำคัญและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตมาโดยตลอด
เพื่อลดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การติดเชื้อเอชไอวี
การตั้งครรภ์ที่ปรารถนาแต่ขาดวุฒิภาวะในการใช้ชีวิตครอบครัว
ความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่ปรารถนา นำไปสู่การทำแท้ง
และการแท้งที่ไม่ปลอดภัย
เพราะข้อมูลการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในแม่อายุต่ำกว่า 20
ปีของประเทศไทยระหว่างปี 2547-2551 พบเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.33 เป็น
ร้อยละ 19.24, 19.66 และ 20.33 ตามลำดับ และคาดว่า
จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเขตภาคกลางและภาคใต้ตอนบน
พบมีการตั้งครรภ์และคลอดบุตรสูงที่สุดร้อยละ 27" พญ.ศิริพร กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
แนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมคุณภาพการเกิด
ทุกรายในประเทศไทยให้มีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี คือ
การดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์แห่ง
ชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2552-2556) 6 ด้าน คือ 1)
การเสริมสร้างครอบครัวใหม่และเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ 2)
การส่งเสริมให้คนไทยทุกเพศ ทุกวัย
มีพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม 3)
การพัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและ
ประสิทธิภาพ 4) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศแบบ
บูรณาการ 5) การพัฒนากฎหมาย
กฎและระเบียบเกี่ยวกับงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ และ 6)
การพัฒนาและการจัดการองค์ความรู้และเทคโนโลยีอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพ
ทางเพศ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติที่ประกอบด้วยภาครัฐ
ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เป็นแกนหลักในการผลักดันการดำเนินงาน

"นอก จากนี้ ยังมีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ.2550 มาตรา 6 ที่บัญญัติให้
"สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์
ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อน
และมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิตต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้ม
ครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม"
ใช้เป็นแนวคิดในการวางทิศทางการสร้างนโยบายที่หลากหลาย
เพื่อยกระดับสุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศของคนไทยให้ดีขึ้น"
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000079995

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น