++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

YouTube Symphony Orchestra: เมื่อ "เทคโนโลยี" ขอใช้หนี้ "ดนตรีกาล"

โดย Co-Op 10 พฤษภาคม 2552 14:31 น.

1 | 2
หน้าถัดไป
โดย...Hungry For More

หนึ่ง ในสัญลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ไปเยือนย่านไทม์สแควร์ใจกลางนคร
นิวยอร์กจะจำได้ไม่ลืมก็คือแสงไฟนีออนสีแดงที่สุกใสในยามค่ำคืนตลอดเวลาของ
หน้าร้านแผ่นเสียงและซีดี Virgin Megastores
สวรรค์ของนักฟังเพลงที่คอยรับใช้ผู้ที่ชื่นชอบเสียงเพลงในฐานะคลังดนตรีที่
ใหญ่ที่สุดของนิวยอร์กในเวลากลางวัน
และทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้แต่งแต้มสีสันในแมนฮัตตันที่แสนโอ่อ่าในยามกลาง
คืนมาเป็นเวลาหลายปี

ทุกวันนี้หน้าที่ในการเป็นฉากหลังให้กับนักท่องเที่ยวในการถ่ายภาพ
ท้องฟ้าในยามราตรีของนิวยอร์กสำหรับ Virgin Megastores ก็ยังเช่นเดิม
แต่หน้าที่ในการเป็นแหล่งทำธุรกิจดนตรีที่ดำเนินมาหลายสิบปีได้ยุติลงแล้ว
เมื่อเดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ Virgin Megastores สาขาอื่นๆ
ทั่วสหรัฐฯ

เหตุการณ์สูญพันธุ์ของเจ้าแห่งร้านซีดีในอเมริกาครั้งนี้
นอกจากจะโดนพิษเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมาเหมือนๆ กับบริษัทรายอื่นๆ แล้ว
สิ่งที่บั่นทอนธุรกิจดนตรีตลอดทศววรษที่ผ่านมาอย่างการดาวน์โหลดเพลงอย่าง
ผิดกฏหมายคือปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ร้านค้าใหญ่ๆ
อย่างนี้ไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้
เช่นเดียวกับกรณีการปิดกิจการเกือบทั่วโลกของ Tower Records เมื่อ 3
ปีที่แล้ว

ความสะดุดตาอย่างเดียวที่เหลืออยู่ของ Virgin Megastores
สาขาไทม์สแควร์ที่เคยเป็นหน้าเป็นตาของสาขาอื่นๆ
คือการที่มันเป็นอาคารยักษ์ใหญ่แห่งเดียวในย่านนั้นที่ถูกทิ้งร้าง
ความเสื่อมโทรมขาดดารดูแลเป็นสิ่งที่แปลกแยกจากตึกระฟ้าในแถบแมนฮัตตันอย่าง
ชัดเจน รอเวลาแต่เพียงผู้ประกอบการรายใหม่อย่างร้านขายเสื้อผ้า (Forever
21) จะมาจับจองที่ทำกินแสนแพงแห่งนี้แทนที่อีกหนึ่งกิจการที่หากินกับดนตรีที่
ต้องสูญพันธ์จากการมาถึงของเทคโนโลยียุคใหม่

แต่เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา บนถนน Seventh Avenue
แห่งเดียวกันของไทม์สแควร์ ห่างออกไปเพียง 10 บล็อก อันเป็นที่ตั้งของ
Carnegie Hall ตักสิลาแห่งคีตสถานทั้งปวง
ที่เหล่าศิลปินหลากหลายระดับชั้นประสบการณ์(แต่ฝีมือน่าเกรงขามทั้งสิ้น)จาก
ทั่วทุกมุมโลกได้มารวมตัวกันเพื่อเปิดการแสดงครั้งแรกกันที่นั่น
ในชื่อโปรเจ็คท์ว่า YouTube Symphony Orchestra
อันเป็นการรวมตัวกันของกิจกรรมดนตรีครั้งใหญ่ของโลกในรอบปีโดยมีสื่อเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง

YouTube Symphony Orchestra: The Star / AF ภาคดนตรีคลาสสิก

YouTube Symphony Orchestra เป็นโปรเจ็คท์ที่ Google และ YouTube
ก่อ ตั้งขึ้นโดยการเชื้อเชิญให้นักดนตรีทั่วโลกไม่ว่าจะมีความสามารถในเครื่อง
ดนตรีชนิดใด ให้นำการแสดงของตัวเองอัพโหลดเข้ามาในเว็บ YouTube ในเพลง
Internet Symphony No. 1 ผลงานประพันธ์ของคีตกวีร่วมสมัยชาวจีน Tan Dun
ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานเอกของ Beethoven อย่าง Symphony No.3:
Eroica ที่ดัดแปลงให้เกิดการผสมผสานร่วมกับจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย
ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกคลิปที่ส่งเข้าประกวดกว่า 3,000 รายจาก 70
กว่าประเทศ จนเหลือผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมา 200 คนให้ชาวเน็ตของ YouTube
เป็นคนโหวตผู้ที่จะผ่านเข้ารอบสุดท้าย
จนมีการประกาศสมาชิกของวงทั้งหมดกันไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง
90% เป็นเพียงแค่นักดนตรีสมัครเล่นที่อาชีพหลักไม่ได้อยู่ในวงออร์เครสตาแต่
อย่างใด โดยสมาชิกของวง 93 ชีวิตจากกว่า 30
ประเทศ(มีคนไทยส่งคลิปไปประกวด
แต่ไม่ผ่านรอบสุดท้าย)ได้รับเชิญมาเปิดการแสดงที่ Carnegie Hall
คีตสถานอายุกว่า 118
ปีแห่งนครนิวยอร์กที่อยู่ในความใฝ่ฝันของนักดนตรีทั่วโลก

เหล่านักดนตรีที่ผ่านการคัดเลือกได้มาถึงนิวยอร์กเมื่อวันอาทิตย์ที่
12 เม.ย.และมีเวลาเตรียมตัวก่อนเปิดการแสดงเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น
โดยการดูแลของบรรดาพี่เลี้ยงที่มีดีกรีระดับโลกทั้งอาจารย์จากสถาบัน
Curtis Institute of Music, Juillard School และสมาชิกจากวงชั้นนำอย่าง
New York Philharmonic, Vienna Philharmonic, Philadelphia Orchestra
ภายใต้การควบคุมของ Michael Tilson Thomas วาทยากรชั้นนำชาวอเมริกัน
ที่เป็นผู้ควบคุมวงหลักของการแสดงครั้งนี้
รวมทั้งการได้ร่วมงานกับแขกรับเชิญมากฝีมืออีกมากมาย


http://www.youtube.com/watch?v=vqYHkZhZ31s&feature=player_embedded
Symphony No. 4 / Brahms

วันเปิดการแสดง

วันที่ 15 เม.ย.เวลาทุ่มครึ่งอันเป็นเวลาเปิดการแสดง ด้านหน้า
Carnegie Hall ก็คราคร่ำไปด้วยแฟนเพลงมากมาย
ซึ่งมีตั้งแต่ชาวตะวันตกในวัยทำงาน
และมีไม่น้อยที่เป็นหนุ่มสาวชาวเอเชียที่ให้ความสำคัญกับการแสดงครั้งนี้
ซึ่งก่อนเข้าอาคารก็มีเซอร์ไพรส์เมื่อซูเปอร์สตาร์สาวชาวเกาหลีอย่าง
ซองเฮเคียว ที่ทาง YouTube
แต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีของวงออร์เครสตานี้ได้เดินทางมาร่วมชมการแสดงในครั้งนี้ด้วย

Isaac Stern Auditorium
หอการแสดงหลักของที่นี่ซึ่งขึ้นชื่อในความโอ่อ่าทางด้านสถาปัตยกรรมที่เก่า
แก่ รวมทั้งการถ่ายทอดเสียงในการแสดงที่สุดยอดแล้ว
ทางผู้จัดยังได้ใช้มัลติมีเดียและภาพเลเซอร์
พร้อมกับจอขนาดยักษ์หน้าเวทีเพื่อเพิ่มอรรถรสในการแสดงครั้งนี้ด้วย

โปรแกรมการแสดงในวันนั้นเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาความหลาก
หลายของดนตรีคลาสสิกอย่างแท้จริง
เพราะเป็นการรวบรวมผลงานของคีตกวีในรอบเกือบ 500
ปีไล่ตั้งแต่ยุคเรอเนสซองซ์จนถึงศตวรรษที่ 21


การโหมโรงด้วยท่อนที่สามจาก Symphony No. 4 ของ Brahms
แสดงให้เห็นว่าเวลาเตรียมตัวอันน้อยนิดไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อสมาชิกที่ถูก
โหวตเข้ามาจากผู้ชมทั่วโลก
ในการบรรเลงเพลงเปิดงานได้พร้อมเพรียงและสง่างาม

ตามมาด้วยการแสดงความสามารถในแต่ละเซ็กชั่นของวง
เริ่มจากทีมเพอร์คัชชั่นในเพลง Music from Canticle No. 3 ผลงานของ Lou
Harrison ศิลปินชาวอเมริกันในศตวรรษที่ 20
ต่อด้วยทีมเครื่องเป่าในผลงานไพเราะของ Dvorak เพลง Music from Serenade
in D Minor และเซอร์ไพรส์แฟนเพลงเล็กๆ
ในการเปิดการแสดงพร้อมกันจากสองฝั่งเฉลียงของทีมเครื่องเป่าทองเหลืองในเพลง
Canzon septimi toni No. 2 ผลงานสมัยปลายยุคเรอเนสซองซ์ของ Giovanni
Gabrieli

มาถึงแขกรับเชิญคนแรกของงานวันนั้นอย่างหนุ่มน้อย Joshua Roman
ที่สื่อมวลชนให้ฉายาเขาว่าเป็น Classical Rock Star
แต่วันนั้นเขามาพร้อมกับการถ่ายทอดอารมณ์ที่สุขุมในชุดคัมภีร์ของมือเชลโลอย่าง
Sarabande from Suite No. 1 ของ Bach

ทีมเครื่องสายกลับมาโชว์อีกครั้งในผลงานเด่นของ Villa-Lobos
ในเพลง Bachiana brasileira No. 9 ก่อนจะปิดช่วงแรกของการแสดงด้วย The
Ride of the Valkyries อันแสนทรงพลังของ Wagner

แขกที่พลาดการปรากฏตัวในวันนั้นได้แก่ Lang Lang
ยอดมือเปียโนแห่งความภูมิใจของชาวจีน ที่ส่งเด็กๆ ในคาถามาโชว์ฟอร์มแทน
ซึ่งถ้าใครได้เห็นในคลิปมาก่อนจะรู้ว่าแม้ทั้ง 3
จะอายุไม่ถึงสิบขวบแต่ก็มีฝีมือที่หาตัวจับได้ยากแล้ว
แต่ด้วยความอาวุโสน้อยจึงต้องแบ่งเวทีกันเล่นในเพลงโชว์เปียโน 6 มือ
Valse from Two Pieces for Piano, Six Hands ของ Rachmaninoff
ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นการแสดงที่ผู้เล่นใช้เวลาแต่งตัวนานกว่าเล่นจริงเพราะจบลงอย่างรวดเร็วเพียงหนึ่งนาทีเท่านั้นเอง

จากนั้นพระเอกของงานก็มาถึง
เมื่อเป็นการเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการของ Internet Symphony No. 1,
"Eroica" เพลงธีมของโครงการนี้ ที่ตัวผู้แต่งอย่าง Tan Dun
ได้ขึ้นการเคาะไม้ด้วยตัวเอง

พระเอกผ่านไปแล้วก็มาถึงนางเอกของงานอย่าง Yaja Wang
นักเปียโนสาววัย 22
ที่หน้าตาที่น่าเอ็นดูได้แอบซ้อนความน่ากลัวของฝีมือเอาไว้อย่างมาก
จากรั้วสถาบันที่รับนักเรียนเข้ายากที่สุดอันดับสองของสหรัฐฯ อย่าง
Curtis Institute of Music (ค่าเฉลี่ยรับนักศึกษาต่อปีที่ 3% ขณะที่
Juillard School อันโด่งดังอยู่ที่ประมาณ 6%)
ที่เธอโชว์ฟอร์มการเป็นศิษย์ร่วมสำนักของ Lang Lang และ Hilary Hahn
ในท่อน Scherzo from Piano Concerto No. 2 ของ Prokofiev ได้อย่างเด็ดขาด
ก่อนที่จะรัวนิ้วไฟแลบในจังหวะที่ร้อนแรงขึ้นไปอีกใน Flight of the
Bumblebee ของ Rimsky-Korsakov
ที่เรียกเสียงเชียร์ได้ดังกึกก้องฮอลมากที่สุดของวันนั้น


http://www.youtube.com/watch?v=GRrrpY03-BE&feature=player_embedded

Yaja Wang - Scherzo from Piano Concerto No. 2 / Prokofiev &
Flight of the Bumblebee / Rimsky-Korsakov

โปรแกรมเข้าสู่ความสงบอีกครั้งด้วยเพลงชวนฝันของ Debussy อย่าง
Nuages from Nocturnes
ก่อนจะถึงการมาเยือนของแขกรับเชิญที่โด่งดังที่สุดในคืนนั้นอย่างยอดนักไวโอลิน
Gil Shaham ที่มาในเพลงยุคคลาสสิกกับท่อน Rondo จาก Violin Concerto No.
5 ของ Mozart และเพิ่มสีสันด้วยการดวลกับเซ็กชั่นไวโอลินฝีมือฉกาจของวงในเพลง
Hunt the Squirrel ผลงานของศิลปินอังกฤษศตวรรษที่ 20 Benjamin Britten

ต่อด้วยศิลปินจากศตวรรษที่ 20
อีกครั้งกับเจ้าแห่งอวองการ์ดชาวสหรัฐฯอย่าง John Cage ในเพลง Aria with
Renga ที่ได้สาวดีว่าโซปราโนคนดังอย่าง Measha Brueggergosman
มาโชว์ความหลากหลายของการใช้เสียงทั้งการเลียนเสียงสัตว์, เสียงจาม,
เสียงกรน รวมทั้งภาษาร้องที่หลากหลาย
บรรเลงพร้อมกันวงดนตรีที่บรรเลงอย่างอิสระไร้กฏเกณฑ์

ดนตรีคลาสสิกและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มาผสมผสานกันในเพลงของศิลปิน
Mason Bates ในเพลงชื่อว่า Warehouse Medicine from B-Sides
ที่เจ้าตัวมาร่วมเล่นกับวงพร้อมกับแล็ปท็อปคู่กาย
สร้างความคึกคักให้กับบรรยากาศในวันนั้นเป็นอย่างดี

ปิดท้ายโปรแกรมด้วยการแสดงของวงใหญ่ในเพลงเอก Finale from
Symphony No. 4 ของ Tchaikovsky และกลับมาอังกอร์ปิดงานด้วย Hungarian
March from La damnation de Faust ของ Berlioz
เป็นอันสิ้นสุดการแสดงอันน่าประทับใจเกือบ 3
ชั่วโมงในค่ำคืนแห่งการเดินทางผ่านห่วงเวลาและแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกันของ
ไปของโลกแห่งดนตรีคลาสสิก

จำนวนคนเข้าไปดูการคัดเลือกนักดนตรีที่จะมาเป็นสมาชิกของ YTSO
จนถึงวันเปิดการแสดงที่เว็บ YouTube กว่า 15 ล้านครั้ง
แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่ามีผู้คนจำนวนมากมายเพียงใดที่หันมาให้ความสนใจ
ความเป็นไปของโลกดนตรีคลาสสิกผ่านโปรเจ็คท์ครั้งนี้
ซึ่งถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อชาวโลกที่ไม่รู้จักกันและอยู่กันคนละ
มุมโลก ให้มานั่งเล่นดนตรีอยู่ในวงออร์เครสต้าวงเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ซึ่งเป็นความน่าอัศจรรย์ที่เทคโนโลสามารถมีต่อวงการศิลปะได้

ที่ผ่านมา YouTube
ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีเทคโนโลยีอยู่ในมือแล้วถูกโจมตีจากสังคมว่านอกจากจะ
ได้ประโยชน์จากงานศิลปะเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรของตนแล้ว
ยังเป็นสื่อกลางในการละเมิดลิขสิทธิ์ของวงการบันเทิงโลก
ซึ่งการกำเนิดของโปรเจ็คท์ YouTube Symphony Orchestra
เป็นเหมือนการประกาศจุดยืนของ YouTube ว่าพวกเขาไม่ได้ดีแต่เพียงผู้รับ
(Download) แต่ยังพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ (Upload)
สิ่งน่าชื่นชมนี้แก่วงการดนตรีโลกอีกด้วย

จาก ความสำเร็จครั้งนี้ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้ YTSO ปีที่ 2 ปีที่
3 ตามมาให้ฟังกันอีก
หรือพวกเขาอาจจะจัดการประกวดเฉพาะเครื่องดนตรีในปีต่อๆ ไป
หรือพัฒนาไปถึงการแปรสภาพไปเป็นเวทีประกวดดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปเลยก็
ได้

http://www.youtube.com/watch?v=oC4FAyg64OI&feature=player_embedded
"The Internet Symphony" Global Mash Up

ชมการแสดงทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ YouTube หรือคลิกหน้าถัดไป


ที่มา http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000051967

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น