++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

รับมือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก” (ฉบับประชาชน) / เอมอร คชเสนี

โดย เอมอร คชเสนี

     ขณะนี้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับข่าว ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนมาก และมีผู้ติดเชื้ออีกหลายรายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาใน 5 มลรัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย เทกซัส แคนซัส นิวยอร์ก และโอไฮโอ และที่ประเทศแดนาดา ในรัฐบริติชโคลัมเบียทางภาคตะวันตก และรัฐโนวาสโกเชียทางภาคตะวันออกของประเทศ รวมทั้งประเทศสเปน ในเมืองบิลเบาทางตอนเหนือ เมืองอัลเมนซาทางตะวันออกเฉียงใต้ และเมืองบาเลนเซียทางภาคตะวันออกของสเปน
      
       ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลขณะปิดต้นฉบับ คืนวันที่ 27 เมษายน 2552 ซึ่งไม่ขอระบุจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ติดเชื้อซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะยังมีผู้ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อและกำลังเฝ้าระวังกันอยู่ อีกหลายราย
      
       เชื้อไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งอันที่จริงก็เป็นสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในคน แต่ทว่า H1N1 ที่พบล่าสุดนี้แตกต่างออกไป คือมีสารทางพันธุกรรมที่พบในสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสที่ติดต่อในคน หมู และสัตว์ปีกผสมกันอยู่
      
       หาก เปรียบเทียบกับเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ (H1N1) มีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าไข้หวัดนก มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าไข้หวัดนก 10 เท่า และรักษาได้ง่ายกว่า แต่มีการแพร่กระจายเชื้อมากกว่าและรวดเร็วกว่า สายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้ติดต่อจากหมูสู่คน แต่ติดจากคนสู่คน ซึ่งต่างจากไข้หวัดนกที่จะไม่ติดต่อจากคนสู่คน
      
       องค์การอนามัยโลกระบุว่าประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ที่เคยเผชิญกับการระบาดอย่างหนักของโรคซาร์สและไข้หวัดนก ซึ่งคร่าชีวิตชาวเอเชียไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ในขณะนี้ถือได้ว่าเอเชียมีความพร้อมมากกว่าประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ในการรับมือกับการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ตัวนี้
      
       สำหรับในประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ายังไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศเม็กซิโก แต่ก็ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุขที่กรมควบคุมโรค ซึ่งจะมีการประชุมทุกวันเพื่อประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงที่เชื้อจะ กระจายเข้าสู่ประเทศ และปรับปรุงเร่งรัดมาตรการป้องกันและแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยมีมาตรการหลักคือ การเฝ้าระวังโรคครอบคลุมทุกจังหวัดและอำเภอ การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการและรายงานผลยืนยันภายใน 4 ชั่วโมง การดูแลรักษาผู้ป่วยโดยการเตรียมคู่มือให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที และการเตรียมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ
      
       โรคดังกล่าวสามารถใช้ยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือทามิฟลู (Tamiflu) ในการรักษาได้เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดนก ขณะนี้ไทยมียาโอเซลทามิเวียร์สำรองไว้อย่างเพียงพอ และยังไม่มีปัญหาการดื้อยา ขณะนี้ได้สั่งให้มีการกระจายยาทั่วทุกจังหวัดแล้ว หากจำเป็นต้องใช้ยาเพิ่ม องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตเพิ่มได้อีก และมีหน้ากากอนามัยชนิดเอ็น 95 และหน้ากากอนามัยทั่วไปอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรถโมบายยูนิตตรวจโรคเคลื่อนที่เตรียมลงจุดที่แพร่ระบาด เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ 24 ชั่วโมง ในทุกโรงพยาบาลอำเภอ
      
       สำหรับการตั้งจุดตรวจผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กรมควบคุมโรคได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ตามสนามบินนานาชาติทั่วประเทศ รวมทั้งมีการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการ แพร่ระบาด โดยแยกผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด หรือมีอาการไข้และไอออกไปเพื่อซักประวัติ
      
       การดูแลป้องกันตัวเองในขณะนี้ ประการแรกคงต้องเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ หรือหากเพิ่งเดินทางกลับมา ก็ต้องเฝ้าระวังตัวเองเป็นอย่างดีว่ามีอาการป่วยผิดปกติใดๆ หรือไม่ ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกประเทศในช่วงนี้จะได้รับแจกเอกสารคำเตือนด้าน สาธารณสุข มีคำแนะนำให้สังเกตอาการของตนเองภายใน 14 วัน หากมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว ควรรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางในต่างประเทศ
      
       สำหรับข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว มีดังนี้
      
       อาการ ผู้ป่วยมีไข้แบบฉับพลัน และมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส รวมทั้งมีอาการไอ คัดจมูก มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดตามข้อหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย และอ่อนเพลีย
      
       การแพร่เชื้อ ติดต่อได้เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป คือเชื้อนั้นจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจาม การรับประทานอาหารร่วมช้อนและภาชนะ หรือติดจากการสัมผัสมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา
      
       การวินิจฉัยโรค ต้องนำสารคัดหลั่งทั้งจากจมูกและปากของผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ ไปตรวจสอบภายในช่วง 24-72 ชั่วโมงแรก นับจากที่บุคคลนั้นเริ่มแสดงอาการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ รวมทั้งต้องมีการเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อค้นหาเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ด้วย
      
       วิธีการรักษา ในรายที่ยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ จะใช้ยา Oseltamivir (Tamiflu) และ Zanamivir (Relenza) หากได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมงก็จะสามารถรักษาได้ทัน
      
       สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีลักษณะของสารทางพันธุกรรมแตกต่างออกไป นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ กำลังพัฒนาวัคซีนตัวใหม่อยู่ แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะนำออกมาใช้ได้จริง
      
       มาตรการป้องกัน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ไม่ทักทายกันด้วยการจูบหรือสัมผัสมือ ไม่รับประทานอาหารร่วมช้อนและภาชนะเดียวกันกับผู้อื่น จัดสถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงานให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด รักษาความสะอาดของสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์ รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า และล้างมือบ่อยๆ
      
       การใช้ ชื่อ “ไข้หวัดหมู” อาจสร้างความสับสนและความตื่นตระหนก ขณะนี้ต้องรอคำยืนยันชื่อเรียกจากองค์การอนามัยโลกอีกครั้ง ว่าจะใช้คำว่า “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดจากเม็กซิโก” หรือ “ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก”
      
       ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่พบหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ใดๆ ที่ระบุว่า การกินเนื้อหมูจะทำให้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ ดังนั้น สามารถกินหมูได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรกินเนื้อหมูที่ปรุงสุก ความร้อนที่ระดับอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำลายเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้
      
       หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถโทร.สอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง และทางเว็บไซต์ www.moph.go.th
      
       ติดตามฟังรายการ “Happy & Healthy”
       ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
       ทางคลื่นของประชาชน FM 97.75 MHz
       และ www.managerradio.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น