++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ประโยชน์ของเกาเหลาข้าวโพด

โดย สุวิชชา เพียราษฎร์ 18 พฤษภาคม 2552 16:54 น.
กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา
ไม่อนุมัติขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 450,000 ตัน
จากโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ไม่เพียงชวนให้นึกถึง "เกาเหลาชามใหญ่" ความขัดแย้งใน
ครม.หากยังเป็นเหมือนไฟฉายที่ส่องเข้าไปในความดำมืดของนโยบายดูแลสินค้า
เกษตรของรัฐภายใต้อุ้งมือนักการเมือง

5 เดือนเศษของการบริหารประเทศ
นับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ปรากฏข่าวในทำนองนี้ บรรยากาศการประชุม
ครม.ในวันนั้นว่ากันว่า ถกเถียงกันดุเดือดจน นางพรทิวา นาคาศัย
รัฐมนตรีพาณิชย์เจ้าของเรื่องถึงกับเก็บอาการไม่อยู่
พร้อมกับมีเสียงสะอื้นหลังจากคำพูดอันเชือดเฉือนของนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก่อนวาระดังกล่าวจะถูกตีกลับไปในที่สุด

จากวันนั้นนายกฯ ได้รับคำชมกับความกล้าหาญ
กล้าที่จะหักหาญพรรคร่วมซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดของนายกฯ
ที่เคยพูดออกมาต่างกรรมต่างวาระอยู่หลายครั้งว่าการทำงานของเขามี
"มาตรฐานเดียว" คือ ความถูกต้อง ส่วนกระทรวงพาณิชย์กลายเป็นตัวปัญหา

จริงๆ ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ก็มีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว
การระบายสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ เช่น ข้าว ก็มีข้อครหามากมาย (ตามที่ ASTV
ผู้จัดการรายวันได้นำเสนอไปแล้ว :
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000055125 )

ดังนั้นพอมีเรื่องข้าวโพดจึงมีคนเห็นด้วยกับนายกฯ อย่างมาก
เพราะหลักการความโปร่งใส
ตรวจสอบได้ที่จะขจัดความไม่ชอบมาพากลที่จะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน!
ใครๆ ก็ต้องการเห็นมากที่สุดจากนักการเมืองและรัฐบาล

หากสังเกตดีๆ หลักการนี้ก็เป็นหลักการเดียวกับ "การเมืองใหม่"
ที่เหล่าพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อสู้เรียกร้องมาตลอดนั่น
เอง

ต่อมา ทั้งนายกฯ และคุณพรทิวาต่างออกมาปฏิเสธว่า
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้ง
และไม่เชื่อว่าเรื่องราวจะลุกลามไปสู่รอยแตกร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้นัดพรรคร่วมรัฐบาลทานอาหารเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจกัน

และอีกวันถัดมา กระทรวงพาณิชย์เจ้าของเรื่องก็เชื่อว่า
วาระเดิมนี้จะถูกเสนอนำกลับมาให้ ครม.พิจารณาใหม่
และแค่เพิ่มเติมรายละเอียดอีกนิดหน่อยก็น่าจะผ่านไปด้วยดี

ไปๆ มาๆ เรื่องดูเหมือนว่า จะจบลง "ด้วยดี"

ว่าไปแล้วประเด็นความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ดี หรือ
ครม.จะผ่านวาระขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงพาณิชย์ครั้งใหม่หรือไม่นั้น
ถือเป็นเรื่องเล็ก ผมคิดว่า คนส่วนใหญ่เขาจะให้พุ่งความสนใจไปที่
"มาตรฐานของนายกฯ" มากกว่า

อย่าลืมว่า เมื่อนายกฯ เริ่มมีมาตรฐานที่ดีแล้วในการประชุม
ครม.คราวก่อน การจะทำเรื่องที่ให้เป็นตัวอย่างแห่งมาตรฐานนี้อย่างไรต่อไปจะเป็นเรื่อง
สำคัญมาก

จากนโยบายสินค้าเกษตรที่มักเป็น "สินค้าการเมือง" หรือ "หมูในอวย"
ของเหล่านักการเมืองที่คอยกอบโกยผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน
กินส่วยจากพ่อค้า
หากเอาจริงเอาจังสร้างมาตรฐานให้ดีจะเป็นเรื่องที่ดีต่อคนหมู่มาก

อย่างน้อยเกษตรกรจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่
ใช่ใครอื่น ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่พ่อค้า-ข้าราชการเลว
และนักการเมืองชั่ว เหมือนที่ผ่านมาๆ!

ดังที่นายกฯ พูดไว้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั่นละว่า
"การแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตรของรัฐบาลที่ผ่านๆ
มาได้เปิดรับจำนำสินค้าเกษตรในราคาสูงกว่าตลาด
ทำให้เกิดการรับจำนำสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลเป็นจำนวนมาก
และส่งผลต่อการระบายสินค้าเกษตรในเวลาต่อมา
รัฐบาลจึงต้องจำกัดจำนวนสินค้าเกษตรที่รับจำนำ
และวางหลักเกณฑ์ระบายสินค้าเกษตรจากภาครัฐ
เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในอนาคต"
ส่วนคู่กรณีของนายกฯ คุณพรทิวามองในมุมกลับกันว่า
การระบายสินค้าเกษตรต่างๆ
ในสต๊อกรัฐบาลที่ได้จากโครงการรับจำนำเป็นธรรมดาที่ต้องขาดทุน
เพราะรัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด
เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรขายสินค้าได้ราคาดี
แต่เวลาระบายออกก็ต้องขายในราคาตลาด ไม่ใช่ขายตามราคารับจำนำ
จึงต้องขาดทุนอยู่แล้ว

"ถ้าต่อไปท่านนายกฯ มีนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตร
ก็ต้องยอมรับการขาดทุนให้ได้ แต่ถ้าไม่มีนโยบายรับจำนำ
ก็จะไม่มีการขาดทุนแน่นอน"

คุณพรทิวาอาจจะพูดไม่ผิดแต่ก็น่าจะถูกแค่ครึ่งเดียว

อีกครึ่งหนึ่ง ผมไม่เชื่อว่า
คุณพรทิวาผู้ที่มีข้าราชการกระทรวงยืนเคียงข้างและรายล้อมด้วยที่ปรึกษาอีก
เป็นสิบๆ จะตีบตันด้านการหาทางออกระบายสินค้าเกษตรด้วยวิธีอื่นบ้างที่จะทำให้ได้ราคา
หรือรัฐเสียหายน้อยหรือไม่ขาดทุนเลย แทนที่เอะอะอะไรก็เปิดประมูล
เลหลังถูกๆ แล้วก็มีเอกชนหน้าเดิมๆ
วนเวียนมารับปันส่วนผลประโยชน์แล้วทิ้งซากความเสียหาย
การขาดทุนไว้ให้ประชาชนผู้เสียภาษี เกษตรกร ดูต่างหน้าอยู่ร่ำไป

กระทรวงพาณิชย์น่าจะมีทางเลือก อาทิ การเสนอขายแบบ "จีทูจี" หรือ
"รัฐต่อรัฐ" กับประเทศที่ต้องการ
หรือขายให้กับโรงงานผู้ประกอบการอาหารสัตว์ในประเทศ
ซึ่งแต่ละปีพวกเขาต้องนำเข้าวัตถุดิบราคาแพงเป็นจำนวนมาก

เพื่อแก้ปัญหาการทุจริต
ตัดวงจรอุบาทว์เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากนี้ไปใน ครม.ทุกๆ
นัด นายกฯ และพรรคร่วมจึงจำเป็นต้องกันพิสูจน์ด้วยการกระทำ
การเปลี่ยนแปลงให้เห็นว่า
การวางหลักเกณฑ์นโยบายเกษตรจะเป็นไปในทิศทางที่โปร่งใส

เกาเหลาชามนี้ไม่ควรหมดหรือจบลงแค่นักการเมืองหน้าม้านโผล่มาทางหน้า
จอทีวีแล้วพูดกลบกระแสความขัดแย้ง (ที่จริงคือแย่งกันทำมาหารับประทาน)
ว่า "พรรคร่วมเรายังรักใคร่กันดี... ไม่มีปัญหา ไม่มีปัญหา"

มันจะไม่มีประโยชน์ใดๆ โดยที่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น