++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บทบาทของนักธุรกิจในทางการเมือง

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน    


ในการแสดงพลังทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ โดยผู้ถือธงชาติเรียกร้องให้ยุติการทำร้ายประเทศไทย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีเนื่องจากกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วยคนหลายอาชีพ และส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกว่า the silent majority แต่ที่สำคัญคือ นักธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในขบวนการดังกล่าวด้วย
      
        โดยทั่วๆ ไปนักธุรกิจมักจะระมัดระวังในการแสดงออก ส่วนใหญ่ต้องการทำมาหากินโดยไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง จนบางครั้งเกิดความรู้สึกว่านักธุรกิจเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีส่วนรับรู้ต่อ การขึ้นลงของสังคม และในการแถลงข่าวของสถาบันทางธุรกิจหลายครั้งก็จะมีการกล่าวถึงความต้องการ ที่ให้ “การเมืองนิ่ง” และ “มีเสถียรภาพ” เพื่อให้การประกอบธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศและการท่อง เที่ยวสามารถเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้
      
        จากสภาวะที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ทำให้คนมองนักธุรกิจผิดไปจากความเป็นจริงในบางครั้ง โดยมองว่านักธุรกิจส่วนใหญ่มุ่งแต่การหากำไรโดยการเสียภาษีให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ และถ้าโอกาสอำนวยก็จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลบหลีกภาษีอย่างแยบยล หรือมิฉะนั้นก็ไม่จ่ายภาษีเลย ในขณะเดียวกันแม้จะมีการประกอบการกุศลซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำด้วยความจริงใจ แต่บางคนก็ทำด้วยการสร้างภาพและการนำมาหักภาษี กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลายคนมองนักธุรกิจซึ่งอาจจะไม่ยุติธรรมนักว่ามีสรณะในใจเพียงอย่างเดียวคือ “การทำกำไร หรือหาเงิน” เวลาคิดคำนวณเรื่องต่างๆ จะต้องมีการคิดถึงต้นทุน กำไร หรือพูดง่ายๆ คือจะได้เท่าไหร่เป็นพื้นฐาน
      
        แต่ในทางกลับกัน ก็มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ใจบุญสุนทานทำการช่วยเหลือคนยากคนจน และช่วยบรรเทาสาธารณภัย หลายคนก็ปฏิบัติต่อลูกจ้างเหมือนคนในครอบครัวร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน การพูดแบบเหวี่ยงแหจึงไม่น่าจะยุติธรรม
      
        ถ้ากล่าวโดยทั่วไปก็ต้องกล่าวว่า ภาพของนักธุรกิจที่ออกมาโบกธงเพื่อเรียกร้องให้หยุดทำร้ายประเทศไทยนั้น แสดงถึงความตื่นตัวในระดับหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าพ่อค้าวาณิช แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหลายฝ่ายชื่นชม ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจุดหนึ่ง
      
        เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นจะชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของนักธุรกิจในประเทศ ไทยมาพอเป็นสังเขป เริ่มต้นทีเดียวสังคมไทยเป็นสังคมที่มีชนชั้นปกครองเพียง 2 ชั้น คือ ผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีผู้ปกครองได้แก่ เจ้า ขุนนาง และในระดับหนึ่งพระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องถือเป็นผู้ปกครองด้วย ผู้อยู่ใต้ปกครองทั้งเพศหญิงและเพศชายต่างก็เป็นไพร่ แตกต่างกันที่ว่าผู้หญิงไม่ต้องรับราชการเข้าเดือนออกเดือน
      
        ส่วนกรณีผู้ชายนั้นเมื่อความสูงวัดจากหัวไหล่ลงไปสองศอกคืบต้องขึ้นทะเบียน เป็นไพร่ โดยสังกัดกับหน่วยราชการเรียกว่าไพร่หลวง ถ้าขึ้นอยู่กับมูลนายที่เป็นเจ้าหรือขุนนางคือไพร่สม ทั้งไพร่หลวงและไพร่สมต้องทำงานปีละ 6 เดือน โดยสลับเดือนและไม่ได้รับค่าจ้าง ชนอีกชั้นหนึ่งคือทาสซึ่งถือเป็นสมบัติไม่ใช่มนุษย์โดยสมบูรณ์ ในสภาพดังกล่าวนี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ก็เป็นเศรษฐกิจเกษตร เป็นเศรษฐกิจยังชีพ การค้าขายมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนสินค้าและพอเพียงในตัวเอง
      
        ต่อมาเมื่อชุมชนเจริญขึ้นก็จำเป็นต้องมีคนกลาง ซึ่งเผอิญได้แก่คนไทยเชื้อสายจีนหรือเชื้อสายอื่น เช่น อาหรับ อินเดีย ฯลฯ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็จะทำหน้าที่เป็นคนกลางนำของป่าไปส่งขายยังต่างประเทศ และนำสินค้าที่สั่งเข้าไปขายแจกจ่ายในเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นเขตราชการ รวมทั้งในหมู่บ้านและชนบท
      
        คนจีนเข้ามาในลักษณะเสื่อผืนหมอนใบ ทำมาหากินโดยจับกลุ่มกันเป็นสมาคม จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัว และผลสุดท้ายก็มีความสัมพันธ์อันดีกับทางฝ่ายผู้ปกครอง นักธุรกิจหรือชนชั้นกลางของสังคมไทยจึงต้องอาศัยอยู่กับฝ่ายปกครองไม่สามารถ พัฒนาจนเป็นชนชั้นกระฎุมพีที่มีอำนาจต่อรองเหมือนในยุโรป กล่าวนัยหนึ่ง อย่างดีที่สุดก็คือคนที่ถูกกลืนเข้าไปในระบบราชการ ดูแลเรื่องการเก็บภาษี การค้าต่างประเทศ การควบคุมบ่อนการพนัน ฯลฯ
      
        เมื่อมาถึงยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักธุรกิจเชื้อสายต่างด้าวดังกล่าวนี้ก็พยายามรักษาตัวเองให้รอดจากนโยบายกด ดันของรัฐบาลในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนมาถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้เกิดสภาวะอันใหม่ขึ้นนั่นคือ พันธมิตรระหว่างนักธุรกิจเชื้อสายจีนกับข้าราชการทหารและพลเรือน โดยต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ (power) และทรัพย์ศฤงคาร (wealth) โดยฝ่ายราชการจะได้ผลประโยชน์ทางการเงิน
      
        ส่วนทางนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนก็จะได้ความคุ้มครองทางการเมืองและโอกาสใน การประกอบธุรกิจด้วยนโยบายของรัฐโดยออกมาเป็นกฎหมาย ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้พัฒนาไปสู่การแต่งงานของลูกหลานทั้งสองกลุ่ม เมื่ออำนาจบวกทรัพย์ศฤงคารก็นำไปสู่สถานะ (status) จึงเป็นการผสมผสานของอำนาจกับเงินและฐานะอย่างสมบูรณ์แบบ
      
        เมื่อระบบการเมืองเปิดกว้างขึ้น นักธุรกิจดังกล่าวก็จะสนับสนุนพรรคการเมืองด้วยการบริจาคทั้งทางตรงและทาง อ้อม จากนั้นก็จะได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิกหรือแม้กระทั่งเป็นรัฐมนตรี จนถึงจุดๆ หนึ่งหลายคนก็ตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองเอง และเมื่อมีการเลือกตั้งก็ได้ตำแหน่งในสภานิติบัญญัติ รวมทั้งฝ่ายบริหารจึงมีโอกาสเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐด้วยฐานจากอำนาจเงิน ใช้อำนาจรัฐดังกล่าวประกอบธุรกิจจนตัวเองเกิดความร่ำรวย จนถึงจุดที่มีการผูกขาดทางอำนาจและการประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ การเกาะเกี่ยวอำนาจรัฐโดยมีฐานจากอำนาจเงิน และใช้อำนาจรัฐดังกล่าวไปขยายฐานอำนาจเงินมากยิ่งขึ้น ทำให้แปรเปลี่ยนจากอำมาตยาธิปไตยซึ่งอ่อนกำลังลงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไปสู่ระบบธนาธิปไตยจนมีผลมาถึงปัจจุบัน
      
        นักธุรกิจจึงมีส่วนสร้างสังคมไทยทั้งในทางบวกและทางลบ
      
        ทางบวก ได้แก่ สร้างความจำเริญให้กับเศรษฐกิจ การลงทุนอุตสาหกรรมและบริการทำให้เกิดการว่าจ้างแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี การหาเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ การเสียภาษีทำให้รัฐสามารถนำไปใช้เป็นงบประมาณ ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการประกอบการกุศล บริจาค ทั้งในทางศาสนา การช่วยเหลือคนยากไร้ โรงพยาบาล จนถึงการสร้างมหาวิทยาลัย ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เป็นผลในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด กล่าวอีกนัยหนึ่ง นักธุรกิจมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสังคมไทยไปสู่สังคมสมัยใหม่ที่ทัน กับโลก
      
        แต่เหรียญอีกด้านหนึ่ง นักธุรกิจคนไทยเชื้อสายจีนเป็นผู้นำบ่อนพนันเข้ามาสู่ประเทศไทย ส่งเสริมการสูบฝิ่น การรวมกลุ่มเป็นอั้งยี่ท้าทายอำนาจรัฐ การมีส่วนสำคัญในการขยายการฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้เกิดระบบการใช้เงินซื้อเสียง การละเมิดกฎหมาย และการนำไปสู่ระบบธนาธิปไตยในปัจจุบัน
      
        แต่ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้อาจจะเกิดขึ้นโดยนักธุรกิจจำนวนไม่กี่คน นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่เป็นระดับกลางก็ยังประกอบการค้าทำมาหากินโดยสุจริต การกล่าวถึงบทบาทในทางลบของนักธุรกิจซึ่งเป็นจำนวนน้อยนั้นจึงต้องกล่าวให้ กระจ่าง เพราะถ้าพูดถึงจำนวนโดยสัดส่วนต้องถือว่านักธุรกิจที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อบ้านเมืองดังที่กล่าวมาแล้วนั้นมีจำนวนจำกัด ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจระดับกลางที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวจนลูกหลานได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ทำงานรับใช้บ้านเมืองและสังคมไทยซึ่งถือว่าเป็นประเทศของตนอย่างเต็มเปี่ยม
      
        แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเท็จจริงที่ว่านักธุรกิจจำนวนไม่น้อยก็ไม่ประสบความ สำเร็จ ดำรงชีวิตที่ไม่สุขสบายนักเหมือนกับคนไทยเชื้อสายอื่นๆ โดยทั่วๆ ไป
      
        เวลาสื่อมวลชนหรือนักวิชาการพูดถึงบุคคลที่เป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่ ประสบความสำเร็จนั้น มักจะเจาะกลุ่มบุคคลเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จ แต่คนไทยเชื้อสายจีนที่ยากจนและทำมาหากินตัวเป็นเกลียวมีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ถูกมองข้าม ภาพที่ฉายออกมาจึงเป็นภาพที่เห็นเพียงด้านเดียว ทำให้ข้อมูลในทางวิชาการไม่สมบูรณ์ คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนหนึ่งต้องอาศัยสมาคมช่วยเหลือในงานศพ รวมทั้งการยังชีพให้อยู่รอดไปวันหนึ่งๆ ก็มีไม่น้อย
      
        แต่ ประเด็นสำคัญก็คือ จากการปรากฏตัวของนักธุรกิจในครั้งนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของนักธุรกิจดีขึ้น จากกลุ่มบุคคลที่ถูกมองว่าคำนึงแต่ผลประโยชน์มาเป็นกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาและวิกฤตของบ้านเมือง ในความเป็นจริง บุคคลรุ่นลูกรุ่นหลานก็มีการจับกลุ่มต่อสู้ทางการเมืองโดยเห็นเด่นชัดมาแล้ว ในสองปีที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ในยามบ้านเมืองวิกฤต คนไทยไม่ว่าเชื้อสายเผ่าพันธุ์ใดพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้เพื่อนำ ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000053345

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น