++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ขึ้นภาษีน้ำเมา : สิ่งที่รัฐได้มากกว่าเสีย

โดย สามารถ มังสัง


ในประเทศไทยคนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา
ซึ่งมีคำสอนในส่วนของศีลไว้ชัดเจนว่า ห้ามดื่มสุราและเมรัย
ทั้งยังได้ระบุโทษอันเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ไว้อย่างชัดเจนใน
พระไตรปิฎกเล่ม 22 หน้า 235 หมวดปัญจกนิบาตอังคุตตรนิกายว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถูกแล้ว แม้เราก็ไม่เคยเห็น
ไม่เคยได้ยินข้อที่ว่า บุรุษละเว้นเหตุอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ
(การดื่ม) น้ำเมา อันได้แก่สุราและเมรัยแล้ว ถูกพระราชาจับฆ่า หรือจองจำ
เนรเทศหรือลงโทษอย่างอื่นตามควรแก่เหตุ
เพราะเหตุที่มีเจตนาเว้นจากที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมา
อันได้แก่สุราและเมรัย"

โดยที่แท้กรรมชั่วของบุรุษนั้นต่างหากที่ประกาศว่า
บุรุษนี้ประกอบเนืองๆ ซึ่งที่ตั้งแห่งความประมาท คือ (การดื่ม) น้ำเมา
อันได้แก่สุราและเมรัย จึงฆ่าหญิงบ้าง ชายบ้าง
จึงถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้จากบ้านบ้าง จากป่าบ้าง
ด้วยอาการแห่งการขโมย จึงก้าวล่วงในภรรยาของผู้อื่น ในบุตรีของผู้อื่น
จึงหักรานประโยชน์ของคฤหัสถ์บ้าง บุตรของคฤหัสถ์บ้าง ด้วยการพูดปดบ้าง
เขาย่อมถูกพระราชาจับฆ่า หรือจองจำ เนรเทศ
หรือลงโทษอย่างอื่นตามสมควรแก่เหตุ เพราะเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท คือ
(การดื่ม) สุราและเมรัย
ท่านทั้งหลายเคยได้ยินได้ฟังอย่างนี้บ้างหรือเปล่า?
ข้าพระองค์ทั้งหลายเคยได้เห็น เคยได้ฟัง และจักได้ฟังพระเจ้าข้า

โดยนัยแห่งคำสอนดังกล่าวข้างต้น
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นโทษอันเกิดจากการดื่มสุราและเมรัย
แล้วกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง และถูกลงโทษตั้งแต่จับมาฆ่า จองจำ
และเนรเทศออกไป รวมไปถึงโทษอื่นๆ ตามควรแก่เหตุแห่งการกระทำผิด

นอกจากการชี้ให้เห็นโทษจากการดื่มสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุให้กระทำผิดกฎหมายแล้ว
พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสโทษของการดื่มสุราและเมรัยที่เกิดแก่ผู้ดื่มสุราและ
เมรัยเอง 6 ประการ คือ 1. เสียทรัพย์ 2. ก่อการทะเลาะวิวาท 3.
เป็นบ่อเกิดของโรค 4. เสียเกียรติ เสียชื่อเสียง 5. ไม่รู้จักละอาย 6.
ทอนกำลังปัญญา

ถึงแม้คนไทยส่วนใหญ่จะนับถือพระพุทธศาสนา
และคำสอนในพระพุทธศาสนาได้สอนเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ไว้
อย่างชัดเจน ทั้งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสัจธรรมที่ใครๆ
ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่จริง
เพราะทุกคนที่เป็นนักดื่มจะต้องเสียแน่นอนอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.
เสียทรัพย์ 2. เสียสุขภาพ 3. เสียเวลากับการนั่งร่วมวงดื่ม

ยิ่งกว่านี้ ถ้าผู้ดื่มไม่รอบคอบ
และขาดสติก็จะตามมาด้วยการเสียชื่อเสียง และเสียเพื่อนเพิ่มขึ้นอีก 2
ประการแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงไม่น่าจะมีการผลิต การขาย
และการดื่มเหล้ามากมายมโหฬารอย่างที่เป็นอยู่

แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นอย่างที่ว่านี้
ในแต่ละปีสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่เรียกได้ว่าของมึนเมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล้า และเบียร์ มียอดขายนับพันนับหมื่นล้านบาท
ทำกำไรให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจผลิต
และนำเข้ามาจำหน่ายเป็นยอดเงินจำนวนมหาศาล
ทั้งยังเป็นรายได้หลักประการหนึ่งของรัฐในรูปของการเก็บภาษีสรรพสามิตด้วย

และนี่เองที่ทุกรัฐบาลเมื่อประสบปัญหาการเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า
และเป็นเหตุให้งบประมาณติดลบก็หันไปมองการขึ้นภาษีเหล้า
และเบียร์ทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ที่ถ้ามองในแง่พฤติกรรมที่แสดงออกในฐานะปัจเจกบุคคลแล้ว
ไม่น่าจะนิยมชมชอบสินค้าประเภทนี้

แต่เมื่อเข้าตาจนรายได้ไม่เข้าเป้าก็ต้องพึ่งสิ่งที่เชื่อว่าโดยส่วน
ตัวแล้วไม่น่าจะเห็นด้วยกับการส่งเสริมการผลิต และการจำหน่าย

แต่อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีเหล้าเบียร์ 5-10%
ในครั้งนี้นัยว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 5-6 พันล้านบาท
อันถือได้ว่าเป็นส่วนดีในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
และจะมีข้อดียิ่งขึ้น
ถ้าการขึ้นภาษีในครั้งนี้มีผลทำให้เหล้าและเบียร์ต้องปรับเพิ่มราคา 5-6
บาท แล้วมีผลทำให้คนดื่มเหล้าและเบียร์ลดลงไปตาม

แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านี้
รัฐบาลจะต้องมีนโยบายลดการพึ่งพาภาษีเหล้าเบียร์ และค่อยๆ
ลดปริมาณการผลิต การนำเข้าเครื่องดื่มประเภทนี้
แล้วหันไปพึ่งรายได้จากภาษีสินค้าประเภทอื่นแทน

เมื่อมีข่าวดีที่รัฐจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มประเภทของมึนเมาแล้ว
ในขณะเดียวกันก็มีข่าวร้ายที่ว่ารัฐอาจพิจารณาขึ้นภาษีน้ำมันทุกชนิด 1-2
บาทต่อลิตร

ถ้ารัฐขึ้นภาษีน้ำมันจริง
เชื่อได้ว่าประชาชนคนมีรายได้น้อยจะต้องเดือดร้อนกับราคาสินค้า
และบริการที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ทั้งจากราคาตลาดโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น
และจากการขึ้นภาษีเป็นการซ้ำเติม
อันเกิดจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นกว่าศักยภาพในการจัดเก็บรายได้
ตามปกติ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. เมื่อรัฐบาลขึ้นภาษีน้ำมันก็จะทำให้ราคาขายหน้าสถานีจ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น
ทันทีตามสัดส่วนของภาษีที่เพิ่ม
และเมื่อบวกกับต้นทุนนำเข้าน้ำมันแล้วเชื่อว่าราคาจะต้องขึ้นตาม
และถ้าเป็นไปอย่างรวดเร็วจนคนใช้น้ำมันปรับตัวไม่ทันจะต้องเดือดร้อนแน่นอน

2. เมื่อน้ำมันขึ้นราคา
ผู้ประกอบการผลิตที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิต
ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซลจะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
และแน่นอนว่าจะไม่มีผู้ประกอบการรายใดแบกรับไว้เพียงผู้เดียวแน่นอน
แต่จะผ่องถ่ายไปให้ผู้บริโภครับภาระแทน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เดือดร้อนจริงๆ
และไม่สามารถผ่องถ่ายให้ใครได้อีกก็คือคนสุดท้าย ผู้บริโภค ผู้ใช้สินค้า
และบริการนั่นเอง

3. ในกรณีที่มิได้เป็นผู้ผลิต
และไม่ได้รับผลกระทบในแง่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องแบกรับต้นทุนดำเนินการที่เกิดจากต้นทุนการขนส่ง
สินค้า และการเดินทางของบุคลากรในองค์กรเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ต้องมีการปรับเงินเดือน
และค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ถ้ารัฐมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีน้ำมัน
ก็คงต้องมีมาตรการเสริมมารองรับให้รัดกุมในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะมาตรการควบคุมราคาสินค้า
และบริการไม่ให้ถือโอกาสขึ้นราคาเกินกว่าที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งจะต้องกำหนดให้มีการปรับราคาลดลงในทันทีที่ราคาน้ำมันโลกลดลง
และผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงด้วย

ประการ สุดท้าย สิ่งที่รัฐบาลต้องควบคุมให้ดี ก็คือ
ปตท.ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน และเป็นผู้ถือหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน
ควรจะได้พยุงราคาน้ำมันในฐานะรัฐถือหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000052439

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น