++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"หมอประเวศ" แนะไม่ต้องรีบแก้ รธน. ชู 5 แนวทางพาชาติร่มเย็น หยุดความรุนแรง

"หมอประเวศ" แนะคณะกรรมการสมานฉันท์ไม่ต้องรีบแก้รัฐธรรมนูญ
แต่ควรเริ่มจากประเด็นร่วมไม่ใช่ขัดแย้ง ดึงประชาชน
ชุมชนมีส่วนร่วมหาทางออก เสนอกำหนดเป้าหมายสร้างชาติร่มเย็นเป็นสุข ชี้ 5
แนวทางทำได้จริง หยุดความรุนแรง เปิดช่องใช้สื่อรัฐแจงด้วยเหตุผล
สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เกิดกลุ่มประชาสังคม เจริญสติ
เชื่อช่วยไทยพ้นวิกฤต

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี
ในงานมหกรรมระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุน
อบต./เทศบาล) ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวภายหลังการบรรยายพิเศษ
เรื่อง "เสริมศักยภาพท้องถิ่นสร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน" ว่า การ
แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและ
ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำเป็นอันดับแรก
เพราะประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 18 ฉบับ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ทั้งนี้
การทำงานของคณะกรรมการฯ ไม่ควรเริ่มจากประเด็นที่มีความขัดแย้ง
แต่ควรกำหนดเป้าหมายที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่สูงกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คือ การสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในบ้านเมือง
เชื่อว่าเป็นเป้าหมายที่ทุกฝ่าย ทุกคน ทุกพรรคมีความประสงค์ร่วมกัน

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า
จากนั้นคนไทยทุกคนต้องร่วมคิดและตีโจทย์ว่าจะมีแนวทางสร้างความร่มเย็นเป็น
สุขในประเทศได้อย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควรดำเนินการใน
5 ข้อ คือ 1.การป้องกันความรุนแรง
รัฐต้องป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงโดยยึดตามหลักกฎหมาย
อย่าให้มีการสูญเสียชีวิต ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันความรุนแรง
อย่าพยายามสร้างความรุนแรง เพราะสังคมไม่ต้องการความรุนแรง
และต้องให้โอกาสและเวลาประเทศไทย เนื่องจากปัญหาสั่งสมมามาก

2.ยุทธศาสตร์การสื่อสาร
โดยรัฐต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งใช้สื่อของรัฐสื่อสิ่งที่ต้องการ
สื่อถึงประชาชนออกไปทั้งประเทศ แม้ความเห็นจะไม่เหมือนกันไม่เป็นไร
ขอให้แสดงความคิดเห็นโดยใช้ความรู้และเหตุผล
ไม่ใช่ยุยงให้เกิดความปั่นป่วน
จากนั้นนักวิชาการต่างๆเข้ามาให้ความคิดเห็นว่าสิ่งที่แต่ละฝ่ายเสนอเป็น
อย่างไรแล้วให้คนในสังคมทั้งหมดเป็นผู้ตัดสิน
สิ่งนี้จะทำให้สังคมไทยพัฒนาสู่สังคมความรู้และเหตุผล ไม่ใช่ใช้กำลัง
ความรุนแรง

"ความ ขัดแย้งของประชาชนเกิดจากนักการเมืองที่เป็นผู้ยุยง
หาพรรคหาพวกจนทำให้ประชาชนต้องแตกแยกกัน
โดยไม่สนใจว่าประชาชนที่เข้าไปเป็นพรรคพวกจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง
เรื่องสามก๊กที่โจโฉพาประชาชน 8
แสนกว่าคนไปสู้รบทางเรือจนเสียชีวิตเกือบหมด เหลือรอดเพียง 30 คน
ซึ่งโจโฉก็เหมือนนักการเมืองที่พาประชาชนไปสู้รบกันจนตาย
ทั้งที่ประชาชนอาจไม่ได้ต้องการสู้รบกันเลย
เพราะฉะนั้นประชาชนต้องรู้เท่าทัน"ศ.นพ.ประเวศกล่าว

3.ต้องกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น
ต้องให้ชุมชนได้ร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาชุมชนเอง
โดยชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศและนายกรัฐมนตรีจะต้องร่วมกันประกาศทศวรรษของ
ชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่ให้นายกรัฐมนตรีประกาศคนเดียว
หากสามารถทำให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเข้มแข็งได้ ภายใน 10 ปี
ประเทศไทยจะรอดพ้นวิกฤติ และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
เพราะหัวใจของการแก้วิกฤติประเทศ คือ ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
ที่มีเอกลักษณ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ
อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ ทุกกระทรวงแผ่อำนาจไปทั่วประเทศ
ทำให้เกิดปัญหามากมาย แม้ว่าประเทศไทยพัฒนาประชาธิปไตยมากว่า 70 ปี
แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยระดับชาติ
ไม่ได้มองถึงประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น
ขณะที่ชุมชนแต่ละแห่งมีความหลากหลายที่ไม่เหมือนกัน
จึงต้องการพัฒนาชุมชนเขาตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น
เมื่ออำนาจจากส่วนกลางลงไป ส่งผลให้ชุมชนหมดศักดิ์ศรีและไร้เกียรติ
จึงแก้ปัญหาทั้งเรื่องความยากจนและความขัดแย้งไม่ได้

"อำนาจ แบบรวมศูนย์ดึงให้นักการเมืองอยากเข้ามามีอำนาจ
จึงพร้อมที่จะใช้เงินทุ่มในการเข้าสู่อำนาจ
นักการเมืองจึงถือเป็นปัญหาประเทศ เป็นผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจ
อย่างทุกวันนี้นักการเมืองก็ไม่ได้ใช้ความรู้พัฒนาบ้านเมืองอย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้นการเมืองต้องมีความถูกต้อง
เมื่อไม่มีความถูกต้องจึงกระเทือนไปทั้งประเทศ ซึ่งนักการเมืองรุ่นแรกๆ
เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต แต่ในช่วงหลังมีเงินเข้ามาในระบบการเมือง
ควบคู่กับการที่นายทุนขนาดใหญ่ร่วมทุนกันแล้วเข้าสู่การเมือง
จึงทำให้การเมืองล้ม
นักการเมืองทั้งหมดต้องร่วมกันทำให้การเมืองมีความเป็นธรรมและถูกต้อง
แต่หากมีการกระจายอำนาจไปให้ถึงชุมชน สังคมชุมชนก็จะเกิดความเข้มแข็ง
ส.ส.ก็จะไม่อยากเข้ามา เพราะโกงกินยาก" ศ.นพ.ประเวศกล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า
นักการเมืองจะต้องร่วมกันสร้างวีรกรรมว่าจะสร้างระบบการเมืองไทยอย่างไรให้
ถูกต้องแล้วการเมืองไทยจะดีขึ้น
ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้องขจัดอิทธิพลของเงินที่เข้าสู่วงการเมือง
ถ้าขจัดไม่ได้การเมืองก็ไม่ดีขึ้น
โดยเริ่มจากการเลิกบังคับให้ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ต้องสังกัด
พรรคการเมือง ต้องเปิดโอกาสให้สามารถลงสมัครได้ในนามของผู้สมัครอิสระ
เพราะการกำหนดให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง
ทำให้ต้องเกิดการระดมทุนเข้าสู่พรรคการเมือง
เงินที่จะเข้าสู่ระบบการเมืองก็จะไม่ถูกขจัดออกไป

"ส่วน การตั้งพรรคการเมืองตั้งได้แต่จะต้องไม่บังคับผู้ลงสมัครส.ส.ให้ต้องสังกัด
พรรคการเมือง ต้องปล่อยให้ ส.ส.เป็นตัวของตัวเอง
มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความรู้ เมื่อมีการอภิปรายในรัฐสภา
สามารถโหวตลงคะแนนได้ตามความคิดเห็นของตนเอง ไม่ใช่แห่โหวตกันเป็นฝูง
คุณภาพก็ไม่มี ส่วนรัฐบาลนี้จะอยู่นานหรือไม่ ถ้าทำไรดีๆ ตั้งตัวดีและชอบ
ประชาชนก็จะสนับสนุนและอยู่นาน โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาล
ถ้านายกรัฐมนตรีไม่โกงกินก็จะอยู่นาน
แต่หากนายกรัฐมนตรีโกงกินก็จะอยู่ไม่นาน"ศ.นพ.ประเวศกล่าว

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า
4.ส่งเสริมให้คนรวมตัวเป็นประชาสังคมร่วมคิดร่วมทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
หากทำได้ประเทศไทยจะมีพลัง เศรษฐกิจ การเมืองและศีลธรรมก็จะดี
และ5.รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการเจริญสติทั้งประเทศ
โดยทำการสำรวจและจัดทำเป็นแผนที่ว่ามีครูในพื้นที่ใดบ้างที่สอนเกี่ยวกับการ
เจริญสติ นอกจากนี้ต้องกำหนดให้วัด โรงเรียน
และมหาวิทยาลัยต้องมีการสอนการเจริญสติในวิชาจิตปัญญาศึกษา
เพราะการเจริญสติจะช่วยให้พบกับความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อนแล้วทุกอย่าง
ทั้งสติปัญญา สุขภาพและสัมพันธภาพระหว่างคนในสังคมจะดีขึ้น ซึ่งทั้ง 5
ข้อสามารถกำหนดเป็นนโยบายเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาได้จริง

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000054024


ความคิดเห็นที่ 3

WHY DID NOT doctor praveth wasee ADVISE TO KROTECHOI thugsin THESE
PRATICES DURING 2544 - 2548 ???!!!
after the 2nd , I note that doctor praveth wasee want to say about
nor. por .chor .,,,,, i.e. nor.por.chor. CAN RECOVER dtv !!!???
JUST ONE QUESION TO doctor praveth wasee ?
WHY DO YOU WANT ALWAYS DEFEND BIGGEST TRAITOR thugsin shanawatra ?$$$$$?
praveth wasee = IMPOSTOR !!!

ความคิดเห็นที่ 2

ขอพูดนิดเดียวจริง ๆ คุณหมอพูดถึงกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอยู่เสมอ
ผมอยู่ในที่ที่คุณหมอเรียกว่าท้องถิ่น คาดว่าคงตลอดชีวิต
ได้รู้ได้เห็นมาตลอด คุณหมอลองเอ่ยชื่อมาซิว่าในสภาทั้ง 2
สภามีนักการเมืองที่เกิดจากท้องถิ่นเท่าใด
เท่าที่รู้เท่าที่เห็นคนที่เข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองท้องถิ่น
มักจะติดใจและขยับฐานะจากการเมืองท้องถิ่นไปเป็นนักการเมือระดับชาติ
อาจจะมีบ้างในปัจจุบันที่เคยเป็น
ส.ส.แล้วกลับไปลงในท้องถิ่นซึ่งก็เป็นเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆ กัน
แต่คงไม่ใช่เพราะการที่ส่วนกลางกระจายอำนาจไปให้แน่ ผู้ลงเลือกตั้งมองว่า
อบต.,อบจ.หรือจะมีเกียรติมีศักศรีเท่ากับ ส.ส., ส.ว.
รายได้และสิทธิประโยชน์ก็ต่างกัน เป็น ส.ส.แค่สมัยเดียวซึ่งอาจ 6
เดือนหรือ 1 ปี ได้รับสายสะพายแล้ว เงินเดือนก็สูง
ก็เหมือนทุกคนอยากเป็นนายก อยากเป็นรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่
เป็นแล้วไม่เคยนอนหลับเต็มอิ่มเลย แต่ก็ยังอยากเป็น อยากรับใช้ประชาชน
เพราะอะไรคุณหมอก็คงรู้
ผมว่าต่อให้กระจายอำนาจไปให้ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนที่คุณหมอฝัน
ก็ยังเป็นจริงไม่ได้ถ้าคนไทยยังขาดการศึกษา
รู้จักประชาธิปไตยเพียงในตำราที่ลอกฝรั่งมา
ถามหน่อยเถอะเวลาเด็กหรือคนอื่นที่ไม่ใช่ลูก หลาน เดินผ่านโดยไม่ก้ม
ขณะที่คนแก่คนเฒ่าหัวหงอกนั่งอยู่ คนแก่คนเฒ่าเหล่านั้นคิดอย่างไร
ปัจจุบันเรามีนายกอายุสี่สิบเศษ พวกแก่แต่กินข้าวยังบอกว่า ยังไม่มีบารมี
พูดหรือสั่งการอะไรบางครั้งยังโต้เถียง
เพราะอะไรมิใช่เพราะความเป็นคนไทยหรอกหรือ ในความคิดของคนไทย
ผู้ที่จะได้รับความเคารพ นับถือ มีเพียงอายุมากก็เพียงพอแล้ว
ไม่ได้คำนึงถึงคุณวุฒิ ซึ่งผิดหลักศาสนาพุทธด้วยซ้ำ
สรุปอีกครั้งผมเห็นว่าต้องให้การศึกษากับประชาชน
ทำให้ประชาชนฉลาดใกล้เคียงกันทั้งประเทศก่อน ความฝันของคุณหมอคงเป็นจริง
ดีดี

ความคิดเห็นที่ 1

เห็นด้วยกับ การแก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำให้คนในชาติสมานฉันท์แน่นอน
และขอคิดเรื่องนี้ด้วยคน การแก้ปัญหาอะไรก็ตาม
ต้อง ทราบว่า ปัญหาอยู่ที่ไหนและเกิดจากอะไร จะทราบได้ด้วยการทำ System
Analysis หรือวิเคราะห์ทั้งกระบวนการ ถ้าทำจะทราบว่า
ปัญหาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้ง สังคมแตกแยก การใช้ความรุนแรง อยู่ที่ คน
และปัญหาของคนอยู่ที่ ใจหรือโปรแกรมชีวิต ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญ
ดังนั้น สมานฉันท์ เป็นเรื่องของใจ จึงต้องแก้ที่ใจ ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญ
ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ต่างจากแก้คอมพิวเตอร์ ทั้งๆ
ที่ปัญหาอยู่โปรแกรมกลับแก้ด้วยการเปลี่ยนมอนิเตอร์ ซึ่งไม่น่าถูกต้อง
หรือ เกาไม่ถูกที่คัน อย่างไรอย่างนั้น
ไพบูลย์/dr.bhiboons@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น