++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ต้องรออีก 50 ปี

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 17 พฤษภาคม 2552 18:53 น.
เรามักพูดกันว่า "ประเทศไทยมีระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475"

ที่จริงตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2524
เรามีระบอบการเมืองแบบกึ่งประชาธิปไตยเสียมากกว่า
เพราะข้าราชการประจำและทหารยังคอยคุมเชิงอยู่
แม้จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งบ้าง แต่ถ้า ส.ส.เกิดก่อความวุ่นวายขึ้น เช่น
จะไม่ให้งบประมาณผ่าน ทหารก็ล้มกระดานเสียอย่างเช่น
การปฏิวัติตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นต้น

หลายสิบปีต่อมา เราจึงเปิดโอกาสให้นักการเมือง
และพรรคการเมืองเข้ามาดำเนินการอย่างเต็มที่
ผลของการที่ข้าราชการและทหารลดบทบาทลง
ก็ทำให้นักการเมืองได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่

แล้วผลเป็นอย่างไรบ้าง
ระบอบประชาธิปไตยเต็มรูปนำไปสู่การคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง
นักการเมืองบางคนใช้ตำแหน่งหน้าที่แบล็กเมล์ผู้ทำผิดกฎหมายเพื่อเรียกเงิน
โดยประกาศว่าจะจัดการกับการบุกรุกป่าสงวน
นอกจากนั้นก็เรียกเปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมา

นอกจากการคอร์รัปชันแล้ว
นักการเมืองก็ยังพัฒนาวิธีการโกงกินไปถึงการแก้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์แก่
กิจการของตนเอง หลีกเลี่ยงภาษี
และใช้ข้อมูลข่าวสารวงในให้เป็นประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย

สิ่งที่บั่นทอนระบอบประชาธิปไตย ยิ่งไปกว่าการคอร์รัปชัน

เมื่อทหารลดบทบาทลง พรรคการเมืองกับกลุ่มพลังต่างๆ ก็ต้องหากลไก
และกระบวนการแก้ปัญหาระหว่างกันเอง แม้ว่าพรรคการเมืองยังร่วมมือกันได้
แต่กลุ่มพลังประชาชนก็ไม่ต้องการเข้าร่วม
และในระยะยาวการท้าทายของกลุ่มพลังเหล่านี้
ยังทำให้ความชอบธรรมของพรรคการเมืองลดน้อยถอยลงอีกด้วย

บทบาทของพลังประชาชนที่สำคัญได้แก่
การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของพรรคการเมือง และนักการเมือง
ปัจจุบันพลังประชาชนได้ประสานกับสื่อที่จัดตั้งขึ้นเองเป็นทางเลือกใหม่
ทำให้สื่อของรัฐบาลไม่เป็นที่เชื่อถือ
ทำให้ยากแก่การควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน

ประชาธิปไตยเต็มใบหมายถึง
ความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ในอีกมิติหนึ่งก็มีการใช้เสรีภาพที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

การมี "เสื้อเหลือง" และ "เสื้อแดง"
เป็นลักษณะพิเศษของการเมืองแบบไทยๆ
การแบ่งเป็นฝ่ายที่ชัดเจนที่สุดเป็นเรื่องธรรมดาในทางการเมือง
เพียงแต่เราไม่ได้แบ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายเลเบอร์
หรือรีพับลิกันกับเดโมแครตเท่านั้น ในการเมืองไทย
การนิยมบุคคลมีความสำคัญกว่าอุดมการณ์ เพียงแต่ว่าการนิยมบุคคลที่มีเงิน
และพร้อมที่จะจ่ายเงิน ทำให้การสนับสนุนไม่อาจยั่งยืนได้
แต่ก็สามารถก่อความเดือดร้อน และปัญหาในระยะสั้นได้ คือ
การอาศัยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ก่อความรุนแรง
และใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปลุกปั่นยุยงด้วยการโป้ปดมดเท็จ

ปรากฏการณ์ของการชุมนุม และการก่อจลาจลของกลุ่มคนเสื้อแดง คือ
ความเป็นจริงของการเมืองไทย
เมื่อระบบการเมืองเปิดโอกาสให้คนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้
ก็ย่อมจะมีทั้งคนเลว-คนดี คนถ่อย-คนเถื่อน
ตลอดจนคนไร้อาชีพเข้ามาปะปนอยู่ในกลุ่มคนที่เคลื่อนไหว

การเมืองไทยขาดรากเหง้าของการเคลื่อนไหวเพื่ออุดมการณ์และเพื่อส่วน
รวม ดังนั้นการเคลื่อนไหวจึงเกิดได้ด้วยการว่าจ้าง
และการปลุกอารมณ์ผู้คับข้องใจ

โดยปกติพรรคการเมือง และเวทีรัฐสภาจะต้องเป็นศูนย์กลางของการเมือง
แต่สำหรับการเมืองไทย กลุ่มอิทธิพลนอกสภาฯ
ไม่ได้เชื่อมโยงการเคลื่อนไหวกับพรรคการเมือง หากแยกออกจากพรรคเป็นเอกเทศ
และอาศัยเวทีนอกรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหว

การเติบโตของขบวนการประชาชนอย่างเป็นคู่ขนานกับพรรคการเมืองนี้
ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองยากที่จะหาทางประนีประนอมลงรอยกัน
เพราะพรรคการเมืองมิใช่กลไกการรวบรวมผลประโยชน์
และความต้องการของกลุ่มต่างๆ
ขบวนการประชาชนนอกจากจะปฏิเสธบทบาทของพรรคการเมืองแล้ว
ก็ยังเป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองอีกด้วย

ในที่สุดคนไทยจะต้องเลือกระหว่างการมีประชาธิปไตยเต็มรูป
แต่มีค่าโสหุ้ย คือ การคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง และความรุนแรง
ความไม่มีเอกภาพและเสถียรภาพ
กับการมีประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีความชอบธรรมน้อย แต่มีประสิทธิภาพ
มีเสถียรภาพ

การกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปะทะกันเองในหมู่ประชาชน
จนทหารต้องเข้าแทรกแซง และครั้งนี้คงจะอยู่จัดระเบียบบ้านเมืองเสียใหม่
ไม่ว่าจะอยู่สั้นหรือยาว ก็จะมีการจำกัดบทบาทของนักการเมือง
และเน้นเรื่องการรักษาความสงบภายในมากขึ้น

น่าเสียดายที่เมื่อเรามีการเรียกร้องให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น
แต่การเมืองกลับเสื่อมโทรมลง
นักการเมืองไม่สามารถเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีได้
และการเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพก็กลายเป็นการปล่อยให้เกิดการโกหก
ตลบตะแลงอย่างไม่เกรงกลัวบาป

ผมเคยบอกว่า ยังอีกนานที่ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่มั่นคง
ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นวิธีการปกครองที่ยากที่สุด
เพราะต้องการความรับผิดชอบสูง ต้องการคนมีเหตุผล
แม้ว่าประชาชนบางส่วนจะมีการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองและสังคมมากขึ้น
แต่ผู้บูชาเงิน และขาดจิตสำนึกก็ยังมีมาก

คงต้องใช้เวลาสัก 50 ปี คงจะดีกว่าที่เป็นอยู่

1 ความคิดเห็น:

  1. อาจารย์ชัยอนันต์ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ต้องรอตนกระทั่งอาจารย์ ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ประชาธิปไตยจึงจะเบ่งบาน

    อันที่จริงในช่วงจังหวะเวลาทองนี้ หากพันธมิตรฯ เดินยุทธวิธี ที่ภาคเอกชน ได้ทำงานล่วงหน้าไปครบ ๑ ปี แล้ว เพื่อช่วยปลดหนี้ให้แก่พี่น้องเกษตรกร อย่างได้ผล ในพื้นที่ ๖๐ อำเภอทั่วประเทศ

    ส่วนที่เหลืออีก ๗ ร้อยกว่าอำเภอหากชาวพันธมิตรฯ นำไปต่อยอดศักยภาพของตนเองช่วยกู้ชาติปลดหนี้ครัวเรือนให้แก่พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ ประมาณ ๓๕ ล้านคน สามารถทำงานให้เสร็จได้อย่างพลิกฝ่ามือทีเดียว ถ้าแกนนำพันธมิตรฯเข้าใจยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ที่ง่ายกว่าขายข้าวสารมากๆเลย

    ทั้งได้ใจพี่น้องเกษตรกร เข้ามาร่วมทำการเมืองใหม่ และสร้างประเทศให้สู่ยุคศิวิไล ได้อย่างยั่งยืน

    หากอาจารย์สนใจในรายละเอียด ผมจะส่งให้อาจารยย์ได้ศึกษารายละเอียดครับ ที่ ss3.artavan@gmail.com

    ตอบลบ