++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

ความขัดแย้งและการแก้ไข

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและเมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มก็หนีไม่พ้นจะต้องมีความขัด แย้งเกิดขึ้น โดยหลักทั่วๆ ไปแล้วมนุษย์จะมีความขัดแย้งใน 4 เรื่องใหญ่ๆ อันได้แก่ ความขัดแย้งในเรื่องอำนาจ ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในเรื่องสถานะทางสังคม และความขัดแย้งในเรื่องที่เป็นนามธรรม เช่น ความยุติธรรม เป็นต้น
      
        นอกจากความขัดแย้งซึ่งอยู่ในกรอบใหญ่ๆ 4 ตัวแปรดังกล่าวแล้ว ยังมีความขัดแย้งที่ละเอียดลงไป เช่น ความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ความขัดแย้งทางธุรกิจ ฯลฯ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมีความขัดแย้งในเรื่องดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนที่มีทรัพยากร เช่น น้ำมัน ความขัดแย้งในเรื่องการกระทบกระทั่งในเรื่องอำนาจอธิปไตย เช่น การรุกล้ำเขตแดนเข้ามา ความขัดแย้งในแง่การไม่แบ่งสรรทรัพยากร เช่น ประเทศที่อยู่ต้นน้ำสร้างเขื่อนและกักน้ำไว้ทำให้ประเทศที่อยู่ปลายน้ำขาด น้ำ หรือปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากการที่ประเทศหนึ่งปล่อยควันพิษข้ามมาอีกประเทศ หนึ่ง หรือนำกากอุตสาหกรรมเข้ามาทิ้งในน่านน้ำอีกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งในทางการเมือง เช่น การเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่ง ยุยงให้ชนกลุ่มน้อยกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล หรือเข้าไปสนับสนุนกลุ่มการเมืองจนเกิดความขัดแย้งกัน
      
        ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้เป็นความขัดแย้งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิด ขึ้นในสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสังคมซึ่งเป็นหน่วยเฉพาะแต่ละหน่วย เช่น แต่ละประเทศ หรือระหว่างประเทศ ในแง่ภายในประเทศนั้นเมื่อมนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่มก็จำต้องมีการสถาปนารัฐ และมีการสถาปนาระเบียบทางการเมือง อันประกอบด้วย ระบบการเมืองเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ มีการปกครองบริหาร มีการออกกฎหมายซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วย มีการเก็บภาษี มีการใช้อำนาจรัฐ และมีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ รัฐจะทำหน้าที่ในการดูแลให้มีความขัดแย้งน้อยที่สุดด้วยการจัดสรรทรัพยากร อย่างยุติธรรม และในกรณีที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ต้องมีมาตรการหรือวิธีการที่จะหา ทางออมชอม หาข้อยุติในความขัดแย้งดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ย หรือนำความขัดแย้งนั้นไปสู่การตัดสินของคณะบุคคลที่เรียกว่าตุลาการ ในสถาบันที่เรียกว่าศาลสถิตยุติธรรม
      
        แต่การแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนที่มีความขัด แย้งกันนั้นยอมรับระบบที่มีอยู่ในสังคม หรือกล่าวง่ายๆ คือยอมรับความชอบธรรมของระบบที่ใช้ปฏิบัติอยู่ในสังคมนั้นๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถจะรับระบบดังกล่าวได้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งก็จะเป็นหมัน และอาจจะนำไปสู่สภาวะของสภาพแห่งธรรมชาติ นั่นคือการใช้กำลังเข้าต่อสู้กัน และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าสงครามภายใน (internal war)
      
        และถ้าหากมีการแบ่งฝักฝ่ายอย่างเด่นชัดเป็นสองฝ่าย ก็อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง (civil war) ได้ สงครามกลางเมืองก็คือการพยายามหาข้อยุติด้วยการใช้กำลังหลังจากความล้มเหลว ของการพยายามแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ตามระบบการแก้ไขความขัดแย้งที่อยู่ในชุมชนการเมืองนั้น
      
        เมื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ถ้าหากลงเอยด้วยฝ่ายหนึ่งมีชัยชนะ ฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็จะถูกปราบปรามจนสิ้น ระเบียบการเมืองก็จะกลับมาอีกครั้งและจะมีการสถาปนากฎหมายและความเป็น ระเบียบสังคมขึ้นใหม่ จนกว่าจะมีปัญหาเกิดขึ้นใหม่
      
        ชุมชนการเมืองใดที่สามารถจะรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของระบบไว้ได้ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นเวลานาน โดยมีกลไกที่จะแก้ไขความขัดแย้งจนไม่นำไปสู่การใช้กำลังในขอบข่ายที่กว้าง ขวางคือสงครามภายใน หรือที่เรียกว่า สงครามกลางเมือง ก็ถือว่าสังคมนั้นหรือชุมชนการเมืองนั้นมีการพัฒนาการเมืองจนกลายเป็นหน่วย การเมือง จะเรียกว่าอะไรก็ตาม เช่น ราชอาณาจักร รัฐชาติ หรือจักรวรรดิ อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรืออาจตลอดไป แล้วแต่กรณี
      
        ประเด็นที่สำคัญที่สุดของการปกครองบริหาร ก็คือการจัดสร้างระบบการเมืองที่สามารถทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ และเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็สามารถแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวโดยสันติโดย ฝ่ายซึ่งพ่ายแพ้ยอมรับผลที่เกิดขึ้น
      
        ขณะเดียวกันผู้ใช้อำนาจรัฐก็ต้องเป็นบุคคลที่มีความชอบธรรม เข้าสู่ตำแหน่งอำนาจตามกติกาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และมีกระบวนการควบคุมไม่ให้การใช้อำนาจนำไปสู่ความขัดแย้งหรือสร้างปัญหาให้ กับสังคมได้
      
        ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การถวิลหาระบบการเมืองการปกครองดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักปราชญ์หลายคนตั้งแต่ ขงจื้อจนถึงเพลโตและอริสโตเติล มาจนถึงยุคใหม่ก็มีความพยายามแสวงหาระบบการเมืองที่ดีหรือเลวน้อยที่สุด จนมาถึงปัจจุบันก็มีความเชื่อว่าระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยน่าจะเป็นระบบ ที่เลวน้อยที่สุด เพราะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องความขัดแย้งได้โดยสันติวิธี
      
        ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองสองหน่วยที่เรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศนั้น มีประเด็นสำคัญที่สุดคือ สงครามและสันติภาพ ประเทศต่างๆ ต่างต้องการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ทำการค้าขาย แลกเปลี่ยนทางการทูต มีความร่วมมือทางการเมือง การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความร่วมมือกันในทางวิทยาศาสตร์ การศึกษา การค้นคว้าวิจัย การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ หรือแม้การเป็นพันธมิตรกันในยามสงคราม ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ มนุษย์
      
        แต่ความขัดแย้ง เช่น ความขัดแย้งในเรื่องดินแดน อุดมการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาเบื้องต้นก็อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ในบางครั้ง ผลสุดท้ายก็จะเป็นกรณีเดียวกันกับความขัดแย้งภายในของหน่วยการเมือง ก็คือการเข้าสู่สภาพธรรมชาติ ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน หรือที่เรียกว่าสงคราม
      
        เมื่อสงครามเกิดขึ้นก็คือการสิ้นสุดของสันติภาพ เมื่อไหร่สงครามสงบลงด้วยชัยชนะหรือด้วยการเจรจาก็จะนำไปสู่สันติภาพอีก ครั้งหนึ่ง สงครามคือมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) เมื่อเกิดความล้มเหลวทางการเมืองหรือการทูต แต่นักคิดบางคน เช่น เหมา เจ๋อตุง มองว่า ทั้งการเมืองและสงครามเป็นสิ่งซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น โดยเหมากล่าวทำนองว่า สงครามคือการเมืองที่มีการหลั่งเลือด ส่วนการเมืองคือสงครามที่ไม่มีการหลั่งเลือด”
      
        หรือกล่าวง่ายๆ คือ การสู้รบกันในสงครามนั้นมีสาเหตุมาจากการเมือง ขณะเดียวกันการต่อสู้ในทางการเมืองก็เหมือนการต่อสู้ในสงคราม ซึ่งจะต้องมีความพยายามในการเอาชนะและต้องมีผู้แพ้ ความแตกต่างอยู่ที่ว่าการเมืองไม่มีการหลั่งเลือด แต่สิ่งที่เห็นได้คือสงครามอาจจะเป็นวิถีทางสุดท้ายของการยุติความขัดแย้ง เพราะการปล่อยค้างคาไว้อาจจะสร้างความเสียหายต่อทุกฝ่าย
      
        ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม ในสงครามหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ยากยิ่งเพราะผู้ชนะจะเป็นผู้กำหนดเหตุผล กฎเกณฑ์ต่างๆ ผู้แพ้ไม่มีอำนาจต่อรองอันใด
      
        ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน มีกลไกในการแก้ไขคือ ใช้มาตรการทางศาลหรือการออกกฎหมายที่อิงหลักนิติธรรม หรือมีระบบการเมืองอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในกฎกติกาการเข้าสู่อำนาจ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นก็มีความพยายามที่จะเจรจาไกล่เกลี่ย การสร้างองค์กรเพื่อพยายามป้องกันสงคราม เช่น สันนิบาตชาติในอดีตและสหประชาชาติในปัจจุบัน
      
        นอกจากนั้นประเทศที่มีอำนาจก็พยายามทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อยุติ ความขัดแย้ง เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันโดยสันติ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้นอกจากจะมีการใช้กำลังเข้าไปแทรกแซงโดยมหาอำนาจ นอกจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ก็ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ ประเพณีการปฏิบัติระหว่างประเทศ สนธิสัญญาต่างๆ เช่น สนธิสัญญากรุงเวียนนา สนธิสัญญาเจนีวา ฯลฯ
      
        ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่อยู่รวมกันและร่วมกันในสังคม เกิดขึ้นทั้งในหน่วยการเมืองเดียวกัน และระหว่างหน่วยการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุดประสงค์หลักคือต้องการอยู่กันอย่างสันติสุข มีความยุติธรรม เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากจะบรรลุ ในแง่การเมืองภายในนั้นหลายประเทศก็ยังไม่สามารถอยู่ได้อย่างสันติสุข ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ยังเกิดการสู้รบกันเป็นครั้งคราวแม้จะไม่มี สงครามระดับสงครามโลกเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ตาม


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000021710

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น