++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:ความชอบธรรมของการชุมนุมและเดินขบวน

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

แม้ว่า ‘เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ’ จะเป็นหลักการที่บัญญัติครั้งแรกไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 และยาวนานต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และ 2550 หากทว่าแทบทุกคราวในการใช้เสรีภาพด้านนี้ของปวงชนชาวไทยกลับเผชิญการสลายการ ชุมนุมแบบผิดขั้นตอนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐลุอำนาจเสมอๆ
      
       การอ้างวาทกรรมความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเพื่อยับยั้งถึงหยุดยั้ง การชุมนุมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น เจรจาต่อรอง เรียกร้องกดดันจึงเป็นภาพคุ้นตาสังคมไทยยิ่ง
      
       เมื่อเมล็ดพันธุ์เสรีภาพการชุมนุมอันเป็นฐานรากการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยไม่อาจเจริญงอกงามบนผืนแผ่นดินไทยได้ ต้นประชาธิปไตยไทยวัยกว่า 7 ทศวรรษจึงแคระเกร็นเรื่อยมา ด้วยกิ่งก้านสาขาความคิดเห็นแตกต่างถูกตัดตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมในที่สาธารณะ (Public place) ทั้งแบบการชุมนุมอยู่กับที่ (Assembly) และการเดินขบวน (Demonstration) ที่กลายเป็นความเคลื่อนไหวแปลกปลอมของสังคมไทยที่เชื่อในอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จ
      
       ทั้งๆ ข้อเท็จจริงแล้วการชุมนุมและเดินขบวนไม่น้อยนั้นขับเคลื่อนอยู่บนผลประโยชน์ ของประเทศชาติประชาชนเป็นสำคัญ ดังเหตุการณ์สำคัญอย่าง 14 ตุลา 16 ที่ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการทหาร จนถึงขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กำราบรัฐบาลทุจริต คอร์รัปชัน
      
       อนึ่ง ถึงประเทศไทยจะให้การรับรองเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายภายในอย่างรัฐ ธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ รวมถึงกฎกติกาภายนอก เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 (Declaration on Human and Citizen Rights 1789) ทว่าท้ายสุดแล้วรัฐไทยกลับไม่อาจปรับตัวเท่าทันพลวัตกฎกติกาภายในและนอก ประเทศเหล่านั้นได้เลย
      
       เนื่องจากที่ผ่านมารัฐไทยยังจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจาก อาวุธอย่างต่อเนื่องผ่านบทบัญญัติของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐ ธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลอาญา และศาลแพ่ง แม้นจะไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความสะดวกในการใช้ที่ สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างภาวะสงคราม ระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้
      
       ในขณะเดียวกันประชาชนธรรมดาก็มักใช้อำนาจการชุมนุมและเดินขบวนไปใน เชิงหวังผล 100% ไม่เฉพาะทางการเมืองเท่านั้น ทว่าทุกเรื่องราวทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม จนถึงภาวะโลกร้อน ล้วนจะต้องเป็นไปตามข้อผลักดันเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมแบบไร้เงื่อนไข
      
       นั่นทำให้การกดดันด้วยการชุมนุมและเดินขบวนกลับกลายเป็นกลไกในท่วง ทำนอง ‘เป้าหมายอธิบายวิธีการ’ (The end justifies the means.) อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่การเคลื่อนไหวนั้นๆ ไม่ได้ตอกหมุดหมายอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเลย หากแต่จัดวางความสำเร็จอยู่ที่การทวงแค้นคืนอำนาจระดับปัจเจกและพวกพ้องเป็น สำคัญ
      
       กระนั้น ยังน่ายินดีที่ตรรกะการเคลื่อนไหวอ่อนยวบยาบเช่นนี้ไม่อาจระดมมวลชน (Mass mobilization) ให้เข้ามาร่วมด้วยจำนวนมากพอจนเกิดพลังเปลี่ยนแปลงสังคมตามข้อเรียกร้องของ กลุ่ม กลับต้องเผชิญภาวะจำกัดของตนเองเพราะยิ่งอยู่ยาวยิ่งผ่อนพลังการชุมนุมลงไป เรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความชอบธรรมที่มีน้อยมากอยู่แล้วยิ่งลดน้อยถอยลงเป็นลำดับตาม กาลผ่าน
      
       พลา นุภาพการชุมนุมและเดินขบวนจักผันแปรตามระดับความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวมาก ยิ่งไปกว่าความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรบุคคล เงินทุน อาหาร การแพร่กระจายข่าวสารข้อมูล และการเปิดช่องทางกว้างขวางของภาครัฐ
      
       ด้วยต่อให้มี ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ ระดมทุนคน เงินทอง ข้าวปลาอาหารพร้อมสรรพมากมายขนาดไหน หากไร้เสียซึ่ง ‘ความชอบธรรม’ แล้วก็ยากจะผลักดันข้อเสนอต่อรองเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มให้ประสบความสำเร็จได้ ยิ่งไม่ต้องเอ่ยว่าจะได้รับการตอบรับจากสาธารณชนมากน้อยแค่ไหน
      
       ไม่เท่านั้น อาจยังถูกต่อต้านจากภาคประชาสังคมที่รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวด้วย
      
       อย่างไรก็ดี การพยายามผลักดันการชุมนุมและเดินขบวนที่ขาดความชอบธรรมและตรรกะให้เดินหน้า ต่อไปได้ในห้วงปัจจุบันที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนกำลังลดลงจาก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและศีลธรรมเสื่อมทรามนั้น ย่อมทำให้การเคลื่อนไหวที่กำหนดอยู่บนฐานผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลผจญแรง เสียดทานมหาศาลจากกระแสสังคม อย่างน้อยๆ ก็เครือข่ายพันธมิตรฯ และภาคีที่ต่อต้านการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย
      
       มากกว่านั้น การพยามผลักดันกลไกการชุมนุมและเดินขบวนให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยไม่สนใจในเนื้อหาวิธีการว่าถูกต้องตามครรลองคลองธรรมหรือไม่ หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ไล่เรียงจากปัญหาปัจเจกบุคคล สู่รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยสากล จนถึงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจถดถอย เพียงเพื่อจะชนะใจมวลมหาชนนั้น ท้ายสุดจริงๆ แล้วก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวได้
      
       ในทางกลับกัน หากการชุมนุมและเดินขบวนนั้นยืนหยัดกับตรรกะและความชอบธรรมหนักแน่นมากพอ ต่อให้ต้องชุมนุมยืดเยื้อยาวนานหรือห้วงยามแสนสั้น ก็จะได้รับการตอบรับจากประชาชนทั้งแง่กำลังคน ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวปลาอาหาร หยูกยารักษาโรค ตลอดจนเมื่อถูกสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐลุอำนาจก็จะได้รับเสียง สนับสนุนเข้มแข็งจากสาธารณชน ดังเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ที่ยิ่งรุนแรงยิ่งทบทวีมวลมหาประชาชน
      
       ยิ่งหากมีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมโดย เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกรรมการในรูปของรายงานการสืบสวนที่ไม่เพียงหาตัวผู้ บงการออกคำสั่งไม่ได้แล้ว ยังใส่ร้ายป้ายสีประชาชนด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มดีกรีความชอบธรรมให้กับการชุมนุมและเดินขบวนมากขึ้น
      
       มากกว่านั้น หากผู้จัดการชุมนุมหรือผู้นำการชุมนุมและเดินขบวนมีความหาญกล้าและรับผิดชอบ ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้เข้าร่วมด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มพูนพลานุภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างมากจนยากต้านทาน ไหว ในเงื่อนไขที่ว่าพลังกล้าแกร่งต้องเคียงคู่มากับความรับผิดชอบยิ่งยวด (With great power comes great responsibility.)
      
       ผู้จัดหรือผู้นำจึงไม่อาจปัดปฏิเสธการควบคุมกลุ่มชุมนุมและเดินขบวน บนขนบสันติวิธีให้ได้ เพราะนอกจากจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แล้ว ยังได้รับการรับรองจากนานาอารยประเทศ อย่างสหพันธรัฐเยอรมนีและฝรั่งเศสที่กลไกในการชุมนุมและเดินขบวนเป็นเสรีภาพ ในทางการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย
      
       ดังนั้นจึงจำเป็นเร่งด่วนต้องร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและ การเดินขบวน พ.ศ. .... ที่มาจากการระดมความรู้ของทุกภาคส่วนแท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กลไกชุมนุมและเดินขบวนอันทรงอานุภาพไปแบบเป้าหมาย อธิบายวิธีการ และหยุดยั้งการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ตัดสินใจแบบ ‘เห็นว่า’ การชุมนุมและเดินขบวนนั้นๆ จะก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ที่ทำให้ทุกๆ การชุมนุมและเดินขบวนจะตกอยู่ในความเสี่ยงอันเนื่องมาจากดุลพินิจของเจ้า หน้าที่รัฐไร้มาตรฐานและขัดกับเจตนารมณ์รัฐธรรมธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการ ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
      
       รวมทั้งยังต้องจัดทำคู่มือการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภาคประชาชน ควบคู่กับผลิตคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติการไม่ให้ใช้อำนาจเข้าสลายการชุมนุมแบบผิดกระบวนการขั้น ตอนสากล หรือใช้ความรุนแรงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตลอดจนปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุม และเดินขบวนจากสภาวะทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ของกันและกันมาเป็นเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกัน
      
       หลัก การสำคัญของรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนที่จะปรากฏใน พ.ร.บ.ฉบับความหวังนี้นอกจากจะสอดรับกับพลวัตความชอบธรรมของการชุมนุมและ เดินขบวนแล้ว ยังยับยั้งการชุมนุมแบบเป้าหมายอธิบายวิธีการได้ดี เท่าๆ กับเสริมสร้างเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของปวงชนชาวไทยในอนาคต จนแข็งแกร่ง.
      
       คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น