...+

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

" T- 2 " เทคโนโลยีการแพทย์ไทย รับมือโรคเขตร้อนที่ถูกประเทศตะวันตกละเลย

เทคโนโลยีฝีมือไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ประเทศไทย เริ่มโครงการ "T-2" หลังมีความพร้อม ทั้งบุคลากร แหล่งข้อมูล และเงินสนับสนุนการวิจัย เพื่อรับมือกับโรคในเขตเมืองร้อน ไม่ว่าจะเป็นวัณโรค มาลาเรีย ไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่ชาติตะวันตกไม่ให้ความสำคัญในการวิจัย เพื่อผลิตยารักษาโรคเหล่านี้ เหตุเป็นโรคที่เกิดกับกลุ่มประเทศที่ยากจน ไม่ทำกำไรการค้า
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทผลิตยาเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งของโลก ได้บริจาคยาตัวหนึ่งจำนวนหนึ่งล้านหน่วย เพื่อเป็นสาธารณกุศลแก่ชาวแอฟริกาผู้ยากไร้ ซึ่งโดยที่จริงแล้วเพื่อผลิตยาตัวนี้ เพื่อใช้รักษาโรคในสุนัข และยาดังกล่าวขายดีในยุโรปจนได้ผลกำไรมหาศาล แต่ด้วยเหตุบังเอิญ ทีมวิจัยของบริษัทดังกล่าว ได้ค้นพบว่า ยาตัวนี้สามารถออกฤทธิ์เป็นยารักษาโรคที่เกิดในประเทศเขตร้อน ชื่อโรคฟิลาเรียซิส ซึ่งเป็นโรคพยาธิชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ตาบอด ยารักษาสุนัขของคนรวย จึงบังเกิดผลพลอยได้ ช่วยรักษาโรคที่เป็นกับคนจนได้ด้วย
กลุ่มประเทศเขตร้อน ได้แก่ ประเทศในทวีปแอฟริกา และส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย กลุ่มประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยารักษาโรคและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เกือบทั้งหมดต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในเขตตะวันตกซึ่งมีอากาศแห้ง และค่อนข้างเย็นกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศดังกล่าว
ดังนั้น งานวิจัยที่ชาติตะวันตกทำขึ้นนั้น บางส่วนก็เป็นโรคที่เกี่ยวข้องแต่ในภูมิภาคตะวันตก บางส่วนก็เป็นโรคที่พบว่าเกิดทั่วโลกและมีผลกระทบในวงกว้างเช่นโรคเอดส์และ โรคมะเร็ง รวมถึงโรคที่สามารถทำรายได้อย่างงามให้แก่ผู้ผลิต ซึ่งมักเป็นยาสำหรับโรคที่เกิดกับผู้มีฐานะความเป็นอยู่ดี เช่น ยาแก้โรคหัวใจ ยาที่เกี่ยวกับสมรรถภาพทางเพศ และยาบำรุงเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และมีอายุยืนยาว เป็นต้น
ขณะที่งาน วิจัยเกี่ยวกับโรคเขตร้อน รวมถึงยาและเทคโนโลยีสำหรับโรคเหล่านี้ กลับมีอยู่น้อยมาก นอกจากนี้โรคเขตร้อน เช่น มาลาเรีย วัณโรค ไข้เลือดออก และโรคหนอนพยาธิ เป็นโรคที่มักเกิดกับคนจนเป็นส่วนใหญ่ จึงขาดแรงจูงใจแก่บริษัทผลิตยาชั้นนำ ในการผลิตยาและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคเหล่านี้
ส่วนประเทศไทยของ เรา แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น แต่โชคดีกว่าชาติอื่นๆ ตรงที่มีความพร้อม โดยมีองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการพัฒนาทางสาธารณสุขอย่างยั่งยืนครบทั้ง 3 ประการ ประการแรก คือ นักวิทยาศาสตร์ไทย โดยเฉพาะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดได้ว่าเป็นบุคลากรที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ประการ ที่ 2 แพทย์และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปรียบนักวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์ตะวันตก ที่แม้จะมีเทคโนโลยีทันสมัย แต่ก็ขาดทักษะความชำนาญในด้านโรคเขตร้อน เมื่อเทียบกับบุคลากรของเรา ซึ่งถือเป็นความพร้อม
ประการสุดท้าย เรามีแหล่งเงินทุนสนับสนุนการวิจัยถึง 3 แหล่งด้วยกัน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ( ศช.) ในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และองค์การอนามัยโลก (TDR/WHO)
ดังนั้น ไทยจึงได้จัดทำ โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อป้องกันและบำบัดโรคเขตร้อน (Thailand - Tropical Diseases Research Programme) ซึ่งมีชื่อเรียกย่อว่า " T - 2" ขึ้น เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ยา น้ำยาที่ใช้ตรวจวินิจฉัยโรค รวมถึงวัคซีนสำหรับโรคเขตร้อนโดยเฉพาะโรคเขตร้อนที่กำลังมีการวิจัยกันอยู่ ในโครงการ T - 2 " ขณะนี้ ได้แก่ มาลาเรีย วัณโรค ไข้เลือดออก ไวรัสตับอักเสบ โรคหนอนพยาธิ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และโรคแทรกซ้อนที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งหากทำสำเร็จจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรค และลดต้นทุนการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศได้เป็นจำนวนเงินมหาศาล
ส่วน ความก้าวหน้าของโครงการ "T - 2" ในขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและดำเนินการจดทะเบียนยากลุ่ม ไดไฮโดรอาธิมิซินิน (Dihydroarthimisinin) ซึ่งออกฤทธิ์เป็นยาต้านมาลาเรีย และใช้ชื่อทางการค้าว่า ทวิซินิน (TWISININ) ซึ่งถือเป็นการขึ้นทะเบียนยาอย่างเป็นสากลเป็นครั้งแรกของคนไทยอีกด้วย
ศ.ยอด หทัย เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อการป้องกัน และบำบัดโรคเขตร้อน กล่าวถึงความก้าวหน้าส่วนหนึ่งของโครงการ T - 2 " ว่า นอกจากการขึ้นทะเบียนยาแก้มาลาเรียตัวแรกที่เป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยแล้ว โครงการ T - 2 " ยังให้การสนับสนุนการวิจัย ทั้งที่เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รวมถึงการพัฒนาและสร้างนักวิจัยด้านโรคเขตร้อน และให้ทุนในระดับบัณฑิตศึกษาทางด้านระบาดวิทยาโรคเขตร้อน
นอกจากนี้ ยังจัดตั้งห้องปฏิบัติการพิเศษ เช่น ห้องปฏิบัติการเก็บรักษาและจำแนกสายพันธุ์เชื้อวัณโรคในประเทศไทย ห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาสารยับยั้งการเจริญของเชื้อมาลาเรีย รวมถึงสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตยาแคปซูลที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล เป็นต้น
"โครงการ 'T - 2' นี้ เป็นการวิจัยโรคเขตร้อนที่เป็นโรคของคนจน งานวิจัยของเราจึงอาจถือได้ว่า เป็นการช่วยคนจนที่ไม่มีเงินซื้อยาแพงๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ งานวิจัยนี้มีความยาก ตรงที่โรคเขตร้อนมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น ขณะนี้วัณโรคได้กลับมาเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของอัตราการตายสูงสุดอีกครั้ง สาเหตุเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคที่ดื้อยา ซึ่งมักพบเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเอดส์ และจากที่เคยเป็นโรคที่เกิดกับคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาดและกิน อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ" ศ. ยอดหทัย กล่าว
โดยปัจจุบันพบว่า คนที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีก็เป็นโรคนี้กันมากขึ้น ตัวอย่างเช่นพวกที่ติดเชื้อวัณโรคจากพนักงานขับรถประจำตำแหน่งของตัวเอง โรคเขตร้อน จึงมีผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ รวมทั้งงานวิจัยโรคเขตร้อน จึงเป็นงานที่หนักและยาก และต้องการการสนับสนุนด้านทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องการความเสียสละ และความจริงใจ ทั้งจากนักวิจัยอาวุโส รวมถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม โครงการ 'T - 2' ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนักวิทยาศาสตร์ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ การประสานงานและการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการแพทย์ จึงไม่ได้จำกัดขอบเขตความร่วมมืออยู่แต่ในหมู่นักวิจัยชาวไทย และในขณะนี้ทางโครงการได้ริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัย แพทย์ และบุคลากรของโรงพยาบาลทั่วประเทศ
รวม ไปถึงประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในเขตร้อนอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาใช้เครือข่ายฐานข้อมูลนี้ร่วมกันได้ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อบำบัดโรคเขตร้อน ซึ่งถือได้ว่าการดำเนินงานของโครงการนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายาม ที่จะยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตัวเองของกลุ่มประเทศเขตร้อน รวมทั้งยังเป็นความหวังและความภาคภูมิใจของคนไทย ทั้งในแง่การสาธารณสุขของประเทศ โดยช่วยให้คนไทยมียาและเวชภัณฑ์ที่ผลิตได้เอง ไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศในราคาแพง และยังจะเกิดผลดีต่อการฟื้นฟูภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป อีกด้วย

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548

วันโรคถุงลมโป่งพองโลก

คอลัมน์ ส่องโรคไขสุขภาพ
วันที่ 17 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันโรคถุงลมโป่งพองโลก ตามการกำหนดขององค์การอนามัยโลก ศ.น.พ.ยงยุทธ์ พลอยส่องแสง ประธานฝ่ายวิจัยในคณะกรรมการบริหารสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนทั่วโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ ปอดของคนสูบบุหรี่ถูกทำลายเสียหาย ถุงลมในปอดโป่งพองทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้เท่าที่ควร คนไข้จะขาดออกซิเจนทำให้หายใจลำบากเหนื่อยตลอดเวลา ระบบภูมิต้านโรคต่ำ โรคนี้ระยะสุดท้ายปอดจะทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา นอนบนเตียงหรือนั่งบนรถเข็น ปัจจุบันนี้ในไทยมีคนไข้โรคถุงลมโป่งพองมากพอสมควร

"คน ไข้ส่วนใหญ่จะมาพบหมอด้วยอาการเหนื่อย ปอดถูกทำลายไปมากแล้ว ทางที่ดีควรพบแพทย์ ตรวจสมรรถภาพปอด การเอ็กซเรย์ทางคอมพิวเตอร์ก็บอกได้ว่า ปอดถูกทำลายหรือไม่ การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยได้มาก ผู้ป่วยโรคนี้ช่วงอายุ 60-70 ปี พบมากที่สุด คนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปก็เริ่มพบโรคถุงลมโป่งพองแล้ว" ศ.น.พ.ยงยุทธ์กล่าว

ศ.น.พ.ยงยุทธ์กล่าวว่า โรคถุงลมโป่งพองแตกต่างจากมะเร็งปอด โดยถุงลมโป่งพองเกิดจากสารพิษในบุหรี่ทำลายเนื้อปอด ส่วนมะเร็งเกิดจากเซลล์ปอดผิดปกติ ซึ่งมะเร็งพบในอายุน้อยได้ สำหรับการรักษานั้นที่สำคัญที่สุดคือ หยุดสูบบุหรี่ เป็นการหยุดการทำลายปอด หลังจากนั้น จะให้ยาขยายหลอดลม ยาฆ่าเชื้อ ถ้าอาการมากต้องให้ออกซิเจน การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ

หยุดสูบบุหรี่ตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของโรคถุงลมโป่งพอง